สันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต

การประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา (ศอศ.) ครั้งที่ 2/2567 เรื่อง “สันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ระหว่างวันที่ 27-29 มี.ค. 67 ณ ห้องประชุมศูนย์นวัตกรรมการศึกษาทางทหาร สปท. และ รร. รอยัล ฮิลส์ กอล์ฟ รีสอร์ท แอนด์ สปา จว.น.ย. 

ประชาคมอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) เป็นองค์กรระหว่างประเทศระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจุดเริ่มต้นโดยประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ได้ร่วมกันจัดตั้ง สมาคมอาสา (Association of South East Asia) เมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2504 เพื่อความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่ดำเนินการไปได้เพียง 2 ปี ก็ต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากความผกผันทางการเมืองระหว่างประเทศอินโดนีเซียและประเทศมาเลเซีย จนเมื่อมีการฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ จึงได้มีการแสวงหาหนทางความร่วมมือกันอีกครั้ง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 หลังจากการลงนามในปฏิญญาสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Declaration of ASEAN Concord) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ปฏิญญากรุงเทพ (The Bangkok Declaration) โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งมี 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย (ซึ่งผู้แทนทั้ง 5 ประเทศที่ร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพ) และต่อมาได้มีสมาชิกเพิ่ม ได้แก่ บรูไน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหภาพพม่า และราชอาณาจักรกัมพูชา  การก่อตั้งประชาคมอาเซียนในเริ่มแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และเมื่อการค้าระหว่างประเทศในโลกมีแนวโน้มกีดกันทางการค้ารุนแรงขึ้น ทำให้อาเซียนได้หันมามุ่งเน้นกระชับและขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันมากขึ้น

จากบริบททางการเมืองระหว่างประเทศที่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมโลกปัจจุบัน ผู้นำประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จึงได้ร่วมกันจัดตั้งเสาหลักประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ (1) ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community หรือ APSC) เนื่องจากความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาด้านอื่น ๆ ประชาคมการเมืองและ ความมั่นคงอาเซียนจึงเป็นเสาหลักความร่วมมือหนึ่งในสามเสาหลักที่เน้นการรวมตัวของอาเซียน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เสถียรภาพ และสันติภาพในภูมิภาค (2) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ท่ามกลางบริบททางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่มีการแข่งขันสูง อันส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องปรับตัวเองเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจโลก รวมถึงการรวมกลุ่มการค้ากันของประเทศต่าง ๆ การตั้งประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ได้  และ (3) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community หรือ ASCC) มีเป้าหมายให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชากรอาเซียนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีการพัฒนาในทุกด้านเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียน อย่างไรก็ตาม สำหรับเสาหลักที่ 1 ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียนนั้น นับได้ว่าเป็นความร่วมมือที่สำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อพลเมืองอาเซียนโดยตรง ซึ่งมีการมุ่งเน้นถึง สันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค รวมถึงวิธีการอยู่ร่วมกันของประชาชนในภูมิภาคได้อย่างมีความสุข ปราศจากการใช้กำลังทางการทหารเข้าคุกคาม 

นอกจากภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ ๆ เช่น ภัยธรรมชาติ ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การก่อการร้าย โรคระบาดแล้วนั้น ยังมีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในภูมิภาค เช่น สถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในอาณาบริเวณที่มีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์มากที่สุดในโลก โดยหลายประเทศในภูมิภาคเข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน รวมถึงไต้หวัน ต่างอ้างความเป็นเจ้าของหมู่เกาะน้อยใหญ่ แนวปะการัง และแนวหินโสโครกในบริเวณนี้ ในขณะที่จีนเป็นประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้มากที่สุด กล่าวคือประมาณร้อยละ 90 ของทะเลจีนใต้ เนื่องจากทะเลจีนใต้ ถือเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในภูมิภาคซึ่งเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน และเชื่อกันว่าบริเวณนี้มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่มหาศาล อีกทั้งยังอุดมไปด้วยปลาและสัตว์น้ำนานาชนิด  นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ความไม่สงบในภูมิภาค เช่น สถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา การเกิดรัฐประหารในประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 โดย อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ประธานาธิบดี วี่น-มหยิ่น และผู้นำคนอื่น ๆ ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy : NLD) ถูกทหารเมียนมาควบคุมตัว และกองทัพเมียนมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และแถลงว่า มีการถ่ายโอนอำนาจให้แก่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ไหล่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำให้เกิดความไม่สงบภายในประเทศ ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนมีความพยายามแสวงหาการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี