แนวทางแก้ไขปัญหาการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติที่มีผลกระทบต่อไทย : กรณีศึกษาเบงกาลี

        จากสถานการณ์การอพยพของชาวเบงกาลีในหลายโอกาส ทำให้ปัญหาการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติของชาวเบงกาลีถูกจับตามองและถูกยกระดับขึ้นมาเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายต่างกังวล โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคและนานาชาติ ในขณะที่ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียต่างกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีส่วนสำคัญในการให้ความช่วยเหลือต่อปัญหาดังกล่าว ผ่านกรอบความร่วมมือของประชาคมอาเซียน อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาชาวเบงกาลีจะต้องให้ความสำคัญกับเมียนมาซึ่งเป็นประเทศต้นทาง ซึ่งตราบใดที่ประเทศเมียนมายังคงไม่ยอมรับและปฏิบัติกับชาวเบงกาลีเช่นเดียวกับพลเมืองในประเทศ เรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาที่ทางอาเซียนต้องหาทางแก้ไขร่วมกันต่อไป แม้ว่าปัจจุบันอาเซียนยังไม่สามารถเข้าช่วยเหลือชาวเบงกาลีได้อย่างเต็มที่ แต่หลักการสำคัญคือทุกประเทศในคาบสมุทรอินเดียต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะประเทศต้นทาง ประเทศที่เป็นทางผ่าน และประเทศที่เป็นจุดมุ่งหมายที่ผู้อพยพต้องการเข้าไปอาศัยอยู่โดยทุกประเทศต้องใช้หลักการร่วมแบ่งปันภาระระหว่างประเทศ และไม่จุดประเด็นที่ทให้เกิดความขัดแย้งกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ต่อไปเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่เป็นประเด็นเร่งด่วนที่ถูกสะสมมายาวนานให้สำเร็จ เพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

        การศึกษาเฉพาะกรณี เรื่อง “แนวทางแก้ไขปัญหาการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติที่มีผลกระทบต่อไทย : กรณีศึกษาเบงกาลี” ฉบับนี้ ด้วยเห็นว่าปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาความมั่นคงระดับชาติ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเสนอแนะให้มีการปรับกระบวนทัศน์ในการพิจารณาปัญหาผู้ลี้ภัยโดยนำมิติด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้ลี้ภัยเข้ามาประกอบ นอกเหนือจากมิติด้านความมั่นคงที่เป็นแนวคิดหลักของไทยมาโดยตลอด และได้มีการปรับแนวทางการแก้ไขปัญหาในทางปฏิบัติที่ผสมผสานระหว่างแนวทางการตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม การส่งกลับโดยสมัครใจ และการอนุญาตให้อยู่อาศัยและทำมาหาเลี้ยงชีพในประเทศแรกรับได้ในบางระดับแทนนโยบายการส่งกลับที่เป็นนโยบายหลักที่ใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เนื่องจากการแก้ไขปัญหาแบบยืดหยุ่นที่ดำเนินการในหลายประเทศทั่วโลกนั้น ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยแบบยืดเยื้อให้คลี่คลายลงได้ในหลายภูมิภาคของโลก

        กองทัพไทยถือเป็นหน่วยงานหลักมีหน้าที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติ ดังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ กล่าวคือ เมื่อเกิดเหตุหรือมีภัยคุกคามความมั่นคงใดๆ ก็ตาม เข้ามาสู่ประเทศชาติ กองทัพนับเป็นหน่วยงานแรกที่ต้องตระหนักและพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับประเด็นปัญหาด้านการย้ายถิ่น ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ตลอดถึงนโยบายในการดำเนินงานของรัฐบาลและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนไทยนั้น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่กองทัพจะต้องตระหนักถึงความมั่นคงปลอดภัยด้านการย้ายถิ่นฐานอย่างจริงจังและรอบคอบต่อไป