แนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการอุทกภัยของกองทัพไทย

       การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมของโลกที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว สูญเสียความสมดุลของระบบนิเวศ มีการเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในบรรยากาศอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ เป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) หรือภาวะโลกร้อน (Global Warming) ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ก่อให้เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนทำให้โลกได้เผชิญกับภัยพิบัติต่างๆ มากมาย โดยความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะอุทกภัยที่ผ่านมานับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้อาจส่งผลต่อการบริหารจัดการรวมไปถึงการดำเนินงานตามรูปแบบปกติที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ที่อาจไม่เพียงพอสำหรับการรับมือปัญหาภัยพิบัติขนาดใหญ่ในอนาคตได้ ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหารูปแบบการบริหารจัดการใหม่ที่ทันสมัยสอดคล้องกับบริบทของประเทศและกองทัพซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนหลักในการรับมือกับภัยพิบัติในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้กองทัพสามารถปฏิบัติภารกิจทั้งในเรื่องการเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ และการช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถตอบสนองต่อความจำเป็นและความต้องการของประชาชนได้อย่างสูงสุด

        ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ จึงได้จัดทำเอกสารศึกษาเฉพาะกรณี เรื่อง “แนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการอุทกภัยของกองทัพไทย” ขึ้น เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบให้กับกองทัพไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำแนวทางและข้อเสนอแนะการบริหารจัดการอุทกภัยโดยเฉพาะด้านการช่วยเหลือประชาชนของกองทัพไทยที่พัฒนาขึ้นไปประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงนโยบาย โครงสร้าง การจัดองค์กร แผนการดำเนินงาน ตลอดถึงกฎและระเบียบการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอุทกภัยรวมทั้งการบริหารจัดการเรื่องอื่นๆ ที่สัมพันธ์กัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด