ปัญหาโรฮิงยากับแนวทางการแก้ไข
โดย
พันเอกหญิง เจษฏา มีบุญลือ และ ร้อยโทหญิง ดร. ปิยะนุช ปี่บัว
สถาบันวิจัยทางยุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ชาวโรฮิงยาเชื่อว่าในคริสต์ศตวรรษที่ ๗ บรรพบุรุษของชาวโรฮิงยาคือ พ่อค้าชาวเปอร์เซียที่เดินทางมาค้าขาย และตั้งถิ่นฐานที่เมืองค๊อกซ์บาซาร์ (Cox’s Bazar) ประเทศบังกลาเทศ รวมทั้งในรัฐอารกันหรือ รัฐยะไข่ ประเทศพม่า ในสมัยก่อน รัฐอารกันมีการปกครองเป็นรัฐอิสระ เรียกว่า อาณาจักรอารกัน มีราษฏรเป็นชาวยะไข่ที่นับถือศาสนาพุทธ ต่อมามีการขยายอาณาเขตไปถึงเมืองจิตตะกอง และเมืองธากา ของบังกลาเทศในปัจจุบัน ซึ่งมี ราษฏรที่นับถือศาสนาอิสลาม ต่อมาในยุคที่อังกฤษยึดครองพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๘ ได้นำแรงงานจากอินเดีย (ซึ่งประกอบด้วยชาวฮินดู ซิกซ์ และชาวมุสลิม เผ่าเบงกาลี) เข้ามาในรัฐอารกัน เป็นแรงงานด้านการเกษตร แรงงานท่าเรือ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ปี พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๕ กลุ่มชาวพม่าชาตินิยมพยายามผลักดันให้ชาวฮินดู ซิกซ์ และมุสลิมกลับประเทศอินเดีย ขณะที่ในรัฐอารกันเกิดความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวอารกัน และชาวอินเดีย โดยมีชาวอารกันพุทธหลบหนีไปอยู่ในบังกลาเทศ