สรุปการประชุมศูนย์อาเซียนศึกษา สปท. ครั้งที่ 1-3/2564

        ศูนย์อาเซียนศึกษา สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการให้เป็นแหล่งค้นคว้า วิจัย รวบรวมข้อมูล และข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นในกลุ่มชาติสมาชิกอาเซียนเป็นหลัก เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อผู้บังคับบัญชา และเป็นแหล่งข้อมูลให้แก่บุคลากรในกองทัพ ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 มีการจัดการประชุมฯ จำนวน 3 ครั้ง โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

        1) การประชุมฯ ครั้งที่ 1/2564 เรื่อง “ทิศทางของอาเซียนภายใต้การนำของบรูไนท่ามกลางการแข่งขันของชาติมหาอำนาจ”

            ความท้าทายของอาเซียนในปี 2021-2023 จะอยู่ในยุคระบอบการเมืองแบบผสมผสานระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ ในขณะที่พฤติกรรมทางการเมืองโลกได้เปลี่ยนไป เนื่องจากจีนมีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น สปป.ลาว และกัมพูชามีการพึ่งพาจีนเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันหลายประเทศได้มีการพึ่งพาทั้งจีนและสหรัฐฯ เช่น เวียดนามที่มีการปรับนโยบายต่างประเทศมุ่งให้ความสำคัญทั้งจีนและสหรัฐฯ ส่วนไทย เมียนมา และมาเลเซีย ยังให้ความสำคัญกับการ “ถ่วงดุลอำนาจ” กับทั้งจีนและสหรัฐฯ และรวมถึงทิศทางของอาเซียนภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของบรูไนในปี พ.ศ.2564 ที่บรูไนจะเป็นประธานอาเซียนนั้น คาดว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก เนื่องจากปัญหาของโควิด-19 ประกอบกับบรูไนเป็นประเทศผลิตน้ำมัน ซึ่งอยู่ในสภาวะประสบปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น “ปัญหาขาดแคลนแรงงาน” โดยเฉพาะช่างฝีมือเพราะแม้ว่าบรูไนจะมีจำนวนประชากรที่ได้รับการศึกษาและมีอัตราการรู้หนังสือ (Literacy Rate) อยู่ในระดับสูงก็ตาม แต่บุคลากรยังขาดความสามารถในระดับมาตรฐานสากลและไม่มีความเชี่ยวชาญที่หลากหลายในการปฏิบัติงาน รวมถึง “ข้อจำกัดในด้านพื้นที่” ด้วยลักษณะประเทศของบรูไนที่มีขนาดเล็ก จึงทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและ “ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ” เนื่องจากทรัพยากรน้ำมันเริ่มลดลง และมีแนวโน้มกำลังจะหมดลงใน 20 กว่าปีข้างหน้า บรูไนจะรีบเปลี่ยนจากการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรถึงแม้พยายามจะไปลงทุนในมิติอื่น ๆ ด้วยก็ตาม


        2) การประชุมฯ ครั้งที่ 2/2564 เรื่อง “อนาคตความมั่นคงทางสาธารณสุขของอาเซียน”

            ความท้าทายที่สำคัญในการจัดการกับปัญหาสาธารณสุขร่วมกันของอาเซียน คือ ความแตกต่างของสาธารณสุขของประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งขีดความสามารถและศักยภาพในการตอบสนองต่อปัญหาด้านสาธารณสุขที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน อันจะ

เห็นได้จากรายงานด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Index: GHS) ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 6 จาก 195 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 18 และสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 24 สำหรับอินโดนีเซียอยู่ในอันดับที่ 30 รวมทั้งเวียดนามและกัมพูชาอยู่ในอันดับที่ 50 และ 89 ตามลำดับ ซึ่งดัชนีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันของศักยภาพในการตอบสนองด้านสาธารณสุข ซึ่งปัญหานี้จะเป็นความท้าทายสำคัญในการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขร่วมกันของอาเซียนในอนาคต และอาเซียนก็สามารถนำกลไกในการจัดการกับภัยพิบัติระดับภูมิภาคที่มีอยู่มาใช้ในการแก้ไขปัญหา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันภายใต้ศูนย์ประสานงานอาเซียน เพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on disaster management: AHA Center) เพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศในการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน

        3) การประชุมฯ ครั้งที่ 2/2564 เรื่อง "แนวทางและวิธีการบริหารจัดการกำลังพลของกองทัพประเทศกลุ่มอาเซียนและมิตรประเทศ

            ภายใต้แนวทางและวิธีการบริหารจัดการกำลังพลของกองทัพสหรัฐฯ โดยมีหน่วยบัญชาการทรัพยากรมนุษย์ กองทัพบกสหรัฐฯ (U.S. Army Human Resource Command) มีหน้าที่ฝึกอบรม ให้ความรู้ การจัดงาน มอบหมายและส่งเสริมผลประโยชน์แก่บุคลากรทางทหาร และพลเรือนในกระทรวงกลาโหม พร้อมยังช่วยเหลือโครงการต่างๆ เช่น การควบคุมการใช้ยาเสพติด และแอลกอฮอล์ สนับสนุนการปฏิบัติงานในต่างประเทศ เช่นเดียวกับแนวทางการบริหารจัดการกำลังพลของกองทัพออสเตรเลยี สำหรับการคัดเลือกบุคลากรของกองทัพได้มีการปรับปรุงระบบการรับสมัครให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ช่วยให้สามารถบันทึกการตัดสินใจในการสรรหาบุคลากรลงในระบบได้โดยตรง ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้บังคับบัญชาในการสรรหาบุคลากร อีกทั้งยังเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการเวลาในการดำเนินการ โดยการเสริมสร้างความคล่องตัวในการสรรหาบุคลากร ทำให้สามารถดำเนินกระบวนการสรรหาบุคลากรท่ามกลางสถานการณ์ไฟป่า และวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ และหากพูดถึงแนวทางการบริหารจัดการกำลังพลของกองสิงคโปร์ ซึ่งมีแนวคิดในการป้องกันประเทศภาพรวมในลักษณะ “การป้องกันแบบเบ็ดเสร็จ” หรือ “Total Defence” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต้องการหลอมรวมใจของคนในชาติ โดยแบ่งเป็น 6 ส่วนดังนี้ (1) ด้านการทหาร (2) ด้านกิจการพลเรือน (3) ด้านเศรษฐกิจ (4) ด้านสังคม (5) ด้านดิจิทัล และ (6) ด้านจิตวิทยา