Track II Monitor (5 ต.ค.63) เรื่อง “ถึงเวลากระชับความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนาม-อินเดีย”

Track II Monitor

วันที่ ๕ ต.ค.๖๓ โดย ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

สถาบัน CSIS ซึ่งเป็น Think Tank ของ สหรัฐฯ ได้อธิบายถึง “ถึงเวลากระชับความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนาม-อินเดีย” เรียบเรียงโดย พ.ท.ธำรงชัย หนุนภักดี และ ร.ท.หญิง ศิวลีย์ สิริโรจน์บริรักษ์ สรุปได้ดังนี้

๑. จีนยังคงรุกรานทะเลจีนใต้อย่างต่อเนื่องแม้ในท่ามกลางวิกฤติ COVID-19 การละเมิด “เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ)” ของประเทศชายฝั่งในทะเลจีนใต้ เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย รวมถึงการซ้อมรบทางทะเลเมื่อ ก.ค.๒๐๒๐ แสดงถึงการที่จีนดื้อแพ่งต่อการปฏิบัติตาม “อนุสัญญาสหประชาชาติว่ากฎหมายทางทะเล (UNCLOS)” และ“ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ ปี ๒๐๐๒” ซึ่ง รมว.กต. สหรัฐฯ ย้ำว่าทะเลจีนใต้ไม่ใช่จักรวรรดิทางทะเลของจีน และเรียกร้องในนานาชาติร่วมกันตอบโต้การกระทำของจีน ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้เป็นที่สนใจของอินเดีย เนื่องความพยายามควบคุมโดย “พฤตินัย (De factor)” ของจีนเหนือพื้นที่ขัดแย้งในทะเลดังกล่าว ที่อาจส่งผลถึง “เสรีในการเดินทาง (Freedom of navigation)” และการทำธุรกิจของอินเดียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในอินเดียเองได้มีการเรียกร้องให้ทบทวนนโยบายของประเทศกับจีน หากอินเดียต้องการแสดงบทบาทนำในการเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกและอินเดียเข้าด้วยกัน เวียดนามและอินเดียต่างได้รับผลกระทบจากการกระทำของจีน ทั้งข้อพิพาทเหนือพื้นที่ขัดแย้งและความท้าทายต่อยุทธศาสตร์ ดังนั้นหนทางที่ดูมีตรรกะของเวียดนาม-อินเดียคือการกระชับความสัมพันธ์เพื่อรับมือกับการสร้าง “ความเป็นจ้าว (Hegemony)” ของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๒. เวียดนาม-อินเดีย มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างยาวนาน อินเดียเคยสนับสนุนเวียดนามต่อสู้กับการไม่ตกเป็นอาณานิคม ปัจจุบันทั้งสองประเทศมีวิสัยทัศน์ร่วมกันคือ “การสร้างสันติสุข ความมั่นคงปลอดภัยของการเดินทาง และไม่คุกคามกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทะเลจีนใต้” และจากกรณีพิพาทระหว่างเวียดนาม-จีน ที่สันดอนแวนการ์ด (Vanguard Bank) ในเขต EEZ ของเวียดนามเมื่อปี ๒๐๑๙ ทำให้เวียดนามเรียนรู้ที่จะรับมือกับจีนและเลือกอินเดียให้เป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบองค์รวม(Comprehensive Strategic Partnership)” ซึ่งความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างเวียดนาม-อินเดียมีความคืบหน้ามากขึ้น จากเดิมที่อินเดียลังเลที่จะขายจรวดนำวิถี Bramos ในปี ๒๐๑๔ และจรวดนำวิถีพื้นสู่อากาศ Akash ในปี ๒๐๑๖ แต่เนื่องจากอินเดียมีความกังวลต่อการกระทำของจีนที่รุกรานกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จึงอาจทำให้อินเดียตัดสินใจขายระบบป้องกันให้กับเวียดนาม เพื่อรับมือกับการกระทำของจีนต่อเรือสัญชาติเวียดนาม การกระทำของเวียดนามในปัจจุบันโน้มเอียงมาทาง สหรัฐฯ และอินเดีย เวียดนามกลายเป็นส่วนสำคัญใน “ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก ๒๐๑๙” ของสหรัฐฯ และเป็นหนึ่งในผู้เล่นสำคัญในอาเซียน โดยเห็นได้ชัดเจนว่าวาระที่เวียดนามเป็นประธานอาเซียน เวียดนามได้ช่วยส่งเสริมบทบาทของอินเดียเองในการเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ในภูมิภาค และในบทบาทของการเป็นสมาชิก “การสนทนาด้านความมั่นคงจตุภาคี (Quadrilateral Security Dialogue: QUAD)” ทั้งนี้อินเดียควรให้ความสำคัญในการสนับสนุนบทบาทของเวียดนามในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถด้านมั่นคงทางทะเลให้กับเวียดนามและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน นอกจากนี้ทั้งเวียดนามและอินเดียควรกระชับความสัมพันธ์กับ “ชาติอำนาจขนาดกลาง (Middle-powers)” เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และออสเตรเลีย รวมถึงการสร้างความร่วมมือไตรภาคี เช่น เวียดนาม-อินเดีย-สหรัฐฯ หรือ ญี่ปุ่น เพื่อรับมือกับจีน

๓. CSIS สรุปว่า อินเดียควรสนับสนุนเวียดนามในมิติความมั่นคงผ่านการทูตและการทหาร เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของอินเดียที่กำลังเติบโตขึ้นท่ามกลางการขยายอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ สำหรับประเทศไทย ควรพิจารณาหนทางในการได้รับประโยชน์

จากความสัมพันธ์ไทย-อินเดีย ที่ตอบสนองต่อผลประโยชน์แห่งชาติ และผลักดันการปฏิบัติกลไกภายใต้ “เอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก” สำหรับกองทัพไทย ควรสนับสนุนกลไกสร้างความเชื่อมั่นภายใต้กรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียนและประเทศคู่เจรจา

ที่มา: https://amti.csis.org/time-to-forge-india-vietnam-defense-ties/