สาธารณรัฐแห่งหภาพเมียนมาร์มีความสัมพันธ์กับประเทศไทยมาตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบันเป็นระยะเวลายาวนาน ในห้วงที่ผ่านมาเมียนมาร์ได้ประสบปัญหาด้านการเมืองภายใน นำมาซึ่งการถูกคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา ปัจจุบันเมียนมาร์ได้ปรับเปลี่ยนด้านการเมืองการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น กับทั้งมีความพยายามในการแก้ปัญหาด้านความมั่นคงภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความพยายามในการใช้วิธีการเจรจาหยุดยิงกับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดน ส่งผลให้สถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมาร์และกองกำลังชนกลุ่มน้อยบริเวณแนวชายแดนระหว่างไทย - เมียนมาร์ ระงับลง และมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จากการดำเนินการดังกล่าวทำให้เมียนมาร์ได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก และได้ผ่อนคลายมาตรการบีบบังคับทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาร์ รวมทั้งเมียนมาร์ได้มีนโยบายต้อนรับการลงทุนในด้านต่างๆ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการเงินการธนาคาร ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น และเนื่องจากเมียนมาร์ยังมีทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น แหล่งก๊าชธรรมชาติ น้ำมัน และ แร่ธาตุต่างๆ ทั้งบนบกและในทะเล ส่งผลให้เมียนมาร์เป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้ เข้ามาลงทุนในเมียนมาร์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งการเข้าร่วมเป็นประธานอาเซียนของเมียนมาร์ในปี พ.ศ.2557 นี้ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันสำคัญต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและเมียนมาร์ในทุกด้านทั้งในด้านการเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
ทั้งนี้เอกสารวิชาการฉบับนี้ เป็นการดำเนินงานร่วมกันภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่าง 2 สถาบัน คือ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ โดยจะเสนอให้เห็นภาพรวมของความเปลี่ยนแปลงของเมียนมาร์และแนวโน้มในการสร้างความร่วมมือในระดับยุทธศาสตร์ระหว่าง 2 ประเทศในอนาคต และจากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่าไทยและเมียนมาร์ ควรมีการวางยุทธศาสตร์ร่วมกันเพื่อเสริมสร้างให้เกิดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนของทั้ง 2 ประเทศมากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยไทยควรมีการประเมินสถานการณ์และภาพอนาคตของเมียนมาร์ในระยะ 5 - 10 ปี เพื่อกำหนดนโยบายเชิงรุก และยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนรอบด้าน รวมทั้งควรมีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักในแต่ละประเด็นให้ชัดเจน