ศศย.สปท. จัดการประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา สปท. ครั้งที่ 2/62 เรื่อง “วิกฤตการณ์โรฮีนจา...ความท้าทายของไทยต่อการเป็นประธานอาเซียน” เมื่อวันที่ 23 ม.ค.62 ห้องเรียนบัณฑิตวิทยาลัย 1 สปท.
ผลการประชุมฯ สรุปได้ดังนี้
1. พัฒนาการของความขัดแย้งระหว่างชาวเมียนมาและชาวโรฮีนจา เกิดขึ้นมาจากหลายปัจจัย ได้แก่ การสู้รบในสมัยพระเจ้าปดุงระหว่างรัฐยะไข่ที่นับถือศาสนาอิสลามกับรัฐเมียนมาที่นับถือศาสนาพุทธ เมื่อฝ่ายใดได้รับชัยชนะก็จะเผาทำลายศาสนสถานของฝ่ายที่พ่ายแพ้สงคราม การที่ชาวโรฮีนจาถูกเกณฑ์เข้ามาช่วยอังกฤษสู้รบกับเมียนมาจนสามารถยึดเป็นอาณานิคมได้สำเร็จ การที่รัฐบาลเมียนมาไม่ให้สถานะชาวโรฮีนจาหลังปี ค.ศ. 1982 เป็นพลเมืองเมียนมา ความแตกต่างของชาวโรฮีนจาที่เกิดขึ้นจากลักษณะของรูปร่าง หน้าตา และผิวพรรณ ที่มีความคล้ายคลึงกับชาวบังกลาเทศ การที่รัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับให้ชาวโรฮีนจาเป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งของเมียนมา สิ่งเหล่านี้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่ก่อให้เกิดความรุนแรงในรัฐยะไข่จนถึงปัจจุบัน
2. ที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐยะไข่อยู่ในพื้นที่ที่ลมมรสุมพัดผ่าน ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวโรฮีนจามีความแร้นแค้น ส่งผลทำให้ต้องอพยพออกไปแสวงหางานทำนอกประเทศ ผู้อพยพชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยทำงาน ซึ่งเป้าหมายในการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวโรฮีนจา คือ มาเลเซีย เพราะมีความคล้ายคลึงกันทั้งทางด้านการนับถือศาสนา ลักษณะของผิวพรรณ และรูปร่างหน้าตา ส่วนไทยเป็นเพียงประเทศทางผ่านและจุดพักเท่านั้น การอพยพจะใช้เรือประมงที่สามารถแล่นผ่านคลื่นลมที่รุนแรงได้และเข้ามาพักที่ฝั่งไทย จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังมาเลเซีย ซึ่งแต่ละจุดจะมีการเรียกรับเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หากตัวผู้อพยพไม่มีเงินติดตัวก็จะมีการติดต่อไปยังครอบครัวหรือญาติเพื่อเรียกรับเงิน ผู้อพยพชาวโรฮีนจามักลักลอบเดินทาง เข้าเมืองผิดกฎหมายในช่วงฤดูที่ไม่มีมรสุม
3. สถานการณ์เกี่ยวกับผู้อพยพชาวโรฮีนจาในปัจจุบัน จากข้อมูลของหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยพบว่ามีชาวโรฮีนจาบางส่วนที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ และจากข้อมูลเชิงสถิติพบว่าการจับกุมชาวโรฮีนจาที่ลักลอบเดินทางเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย และการช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์มีจำนวนลดน้อยลง สืบเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่ไทย และการบริหารจัดการปัญหาที่ดีของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องการค้ามนุษย์
4. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทในการช่วยเหลือชาวโรฮินจา โดยจะมีการคัดแยกกลุ่มผู้เสียหายซึ่งพิจารณาตามองค์ประกอบ 3 ข้อ คือ การพิจารณาที่การกระทำ การพิจารณาที่วิธีการ และการแสวงประโยชน์ ทั้งนี้ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 33
แต่ถ้าตรวจสอบว่ามิใช่เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ก็จะส่งต่อให้หน่วยงานอื่นรับผิดชอบต่อไป สำหรับผู้เสียหายที่อยู่ในความรับผิดชอบของ พม. สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มแรก เป็นกลุ่มที่อยู่ระหว่างรอดำเนินการส่งไปประเทศที่สามเพื่อตั้งถิ่นฐานใหม่ เนื่องจากสหรัฐฯ ชะลอการรับเข้าผู้อพยพตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงฉบับใหม่ของสหรัฐฯ (America First) ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ และพลเมืองชาวอเมริกัน โดยปัจจุบันยังมีชาวโรฮีนจาตกค้างอยู่ที่ไทย จำนวน 68 ราย กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มที่ถูกปฏิเสธการตั้งถิ่นฐานที่ประเทศที่สาม ซึ่งชาวโรฮีนจากลุ่มนี้จะมีภาวะเครียดและวิตกกังวล เนื่องจากไม่สามารถออกไปทำงานภายนอกสถานคุ้มครองได้ และไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการกับพวกเขาอย่างไร และ กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มผู้หญิงและเด็กที่มีความประสงค์จะเดินทางไปมาเลเซีย เนื่องจากมีสามีหรือญาติอยู่ที่มาเลเซีย
5. ข้อเสนอแนะจากที่ประชุมฯ มีดังนี้
5.1 เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทย ควรใช้มาตรการเชิงป้องกัน อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง เช่น การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย และการค้ามนุษย์ ตลอดจนการเตรียมมาตรการรับมือกับปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่อาจส่งผลกระทบต่อไทย
5.2 ปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ดังนั้นการแสดงท่าทีของไทยในฐานะประธานอาเซียนต่อปัญหาดังกล่าว ควรมีการแสดงบทบาทในลักษณะที่ไทยให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮีนจาตามหลักสากล การส่งเสริมให้ชาติสมาชิกอาเซียนร่วมกันค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่โดยสันติวิธี ที่สำคัญคือไทยจะต้องไม่เข้าไปเป็นประเทศคู่ขัดแย้งกับเมียนมาเสียเอง
5.3 ไทยมีพื้นที่ชายแดนติดต่อเมียนมามากที่สุด และมีความสัมพันธ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อกันในมิติต่าง ๆ ค่อนข้างมาก เช่น การลงทุนของไทยในเมียนมา การใช้ทรัพยากรและแหล่งพลังงานจากเมียนมา รวมทั้งการค้า
ตามแนวชายแดน เป็นต้น ดังนั้นการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจา รัฐบาลควรพิจารณาถึงผลกระทบและผลประโยชน์แห่งชาติเป็นหลัก เช่น หากทำแล้วจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย - เมียนมาอย่างไร จะกระทบกับการค้าการลงทุนในพื้นที่ชายแดนอย่างไร จะส่งผลต่อการพึ่งพาพลังงานและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของเมียนมาอย่างไร เป็นต้น
5.4 ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ในปี 62 อาจถูกกดดันจากองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งประเทศอาเซียนบางประเทศเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการอพยพของชาวโรฮีนจา ดังนั้นไทยจะต้องพึงระมัดระวังในการแสดงจุดยืนต่อเรื่องดังกล่าว โดยไทยไม่ควรแสดงบทบาทนำในการแก้ไขปัญหา แต่อย่างไรก็ตามหากมีความจำเป็นต้องแสดงท่าทีไทยควรแสดงบทบาทภายใต้มติของอาเซียน เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย - เมียนมา
5.5กสิ่งที่อาเซียนควรพิจารณา คือ การสร้างความชัดเจนให้ได้ว่าปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาเป็นปัญหาภายในของเมียนมาหรือไม่ หากเป็นปัญหาภายในก็ควรให้เมียนมาแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี หากพิจารณาแล้วเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาคก็ควรใช้มติของ ชาติสมาชิกฯ ส่วนใหญ่เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างไร
เอกสารประกอบการประชุมฯ