ข้าวถือว่าเป็นอาหารพื้นฐานหลักที่หล่อเลี้ยงประชากรกว่าครึ่งโลกและเป็นรากฐานวิถีชีวิตของ คนไทยมาช้านาน ห่วงโซ่มูลค่าของข้าวที่ดีมาจากดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระบบชลประทานที่เหมาะสม การเพาะปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ โดยเกษตรกรผู้ผ่านการฝึกอบรมเพื่อให้สามารถผลิตข้าวต้นทุนต่ำ มีระบบอาหารที่ปลอดภัย และผลิตได้ตามมาตรฐานข้าวอินทรีย์ ผ่านการสีข้าวในโรงสีที่ได้มาตรฐาน จนนำไปสู่การแปรรูปข้าวและนำส่วนที่ได้จากการสีข้าวไปผลิตต่ออย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ ห่วงโซ่การผลิตข้าวเกิดจากผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคข้าวคุณภาพดี ภาครัฐจึงส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาโดยถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงให้กับเกษตรกรผู้ผลิตข้าวเปลือกที่ผ่านการฝึกอบรม มีการตรวจสอบคุณภาพข้าวก่อนที่จะนำไปขายให้กับโรงสีเพื่อแปรสภาพเป็นข้าวสาร จนถึงผู้ประกอบการเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ โดยสร้างมูลค่าเพิ่มและเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ข้าวผ่านการบรรจุภัณฑ์ที่โดดเด่นเพื่อตอบสนอง ความต้องการและ สร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค
อาเซียนให้ความสำคัญต่อประเด็นความมั่นคงด้านอาหารมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นอาหารพื้นฐานหลัก เห็นได้จากในปี ๒๕๒๒ อาเซียนกำหนดให้ประเทศสมาชิกสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน จำนวน ๘๗,๐๐๐ ตัน ถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของ “คลังข้าวอาเซียน” ต่อมาในปี ๒๕๔๖ ประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ กับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ (ASEAN+3) ได้ร่วมกันจัดทำโครงการนำร่องเพื่อการสำรองข้าวในเอเชียตะวันออก (East Asian Emergency Rice Reserve : EAERR) โดยกำหนดให้มีปริมาณข้าวสำรอง ๗๘๗,๐๐๐ ตัน ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “องค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียน+๓ (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve : APTERR)” นอกจากนี้ยังมี ความร่วมมือข้าวภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation : ACMECS) และความร่วมมือข้าวไทย–เวียดนาม ที่กำหนดความร่วมมือเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับเจ้าหน้าที่ ระดับผู้ส่งออกภาคเอกชน และระดับชาวนา ซึ่งพร้อมที่จะผลักดันให้เกิด “โครงการโรงสีข้าวอาเซียน” อันจะเป็นการสนับสนุนคลังข้าวอาเซียนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม