การประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษาฯ ครั้งที่ ๑/๕๕

 

บทบาทของอาเซียนและไทยในการจัดการภัยพิบัติ


        อาเซียนตระหนักถึงผลกระทบจากภัยคุกคามด้านภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง     ในภูมิภาค จึงได้กำหนดกลไกในการรับมือกับภัยพิบัติร่วมกันผ่านคณะกรรมการอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Committee on Disaster Management : ACDM) เมื่อปี ๒๕๔๖ เพื่อให้เป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติในภูมิภาคอย่างครบวงจร อาทิ การป้องกัน การเตรียมความพร้อม การตอบโต้ การบรรเทาและฟื้นฟู ต่อมาอาเซียนได้จัดทำความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response : AADMER) ซึ่งเป็นแผนงานในการตอบโต้ภัยพิบัติในอาเซียน โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ๑๐ ประเทศลงนามร่วมกันเมื่อ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ณ กรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว และมีผลบังคับใช้เมื่อ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒ ทั้งนี้ AADMER ได้กำหนดกรอบความร่วมมือโดยมีมาตรฐานวิธีปฏิบัติสำหรับระบบเตรียมพร้อมและการประสานงานในการปฏิบัติการร่วมกันของภูมิภาคอาเซียนในการบรรเทาภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (Standard Operating Procedures for Regional Standby Arrangements and Coordination of Joint Disaster Relief and Emergency Response Operations : SASOP) ซึ่งประกอบด้วย ๑) การจัดทำระบบเตรียมความพร้อมโดยรวบรวมรายการสินทรัพย์และขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัย เครื่องมือ ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ด้านการจัดการภัยพิบัติ ๒) ขั้นตอนการปฏิบัติในการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมี ศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดการภัยพิบัติ (ASEAN Coordinating Centre for Humanitarian Assistance on Disaster Management : AHA Centre) เป็นกลไกขับเคลื่อนและประสานการปฏิบัติ และกำหนดให้มีการจัดประชุมผู้นำอาเซียนด้านการจัดการภัยพิบัติ (Conference of Parties : COP) เป็นประจำทุกปี โดยในปี ๒๕๕๕ ได้กำหนดจัดประชุมภายในสัปดาห์แรกของเดือนมีนาคม ควบคู่กับการจัดประชุม ACDM นอกจากนี้ อาเซียนกำหนดให้มีการฝึกซ้อมแผนเผชิญภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียน (ARDEX) ซึ่งเป็นกิจกรรมประจำปีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ โดยเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพในวาระปี ๒๕๕๕
    AHA Centre ซึ่งตั้งอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๙ ณ เมืองบาหลี ที่ผ่านมา เพื่อ

ส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานของภาคีกับองค์การสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ในการสนับสนุนความร่วมมือในภูมิภาค โครงสร้าง AHA Centre ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหาร 

 ซึ่งรับผิดชอบดูแลในภาพรวม  ผู้อำนวยการบริหาร รับผิดชอบในการบริหารจัดการและงบดำเนินงาน และมีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ๑๓ นาย ปฏิบัติหน้าที่ในส่วน ๑) การเตรียมความพร้อม การตอบโต้และฟื้นฟู  ๒) การประเมินความเสี่ยง การเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้า การจัดการองค์ความรู้  ๓) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย    ๔) ส่วนประสานความร่วมมือและระดมทรัพยากร และ ๕) ฝ่ายบริหารและการเงิน การจัดการข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยี ทั้งนี้ AHA Centre กำหนดให้ประเทศสมาชิกบริจาคเงินเข้ากองทุนจำนวนเท่ากันเป็นประจำทุกปี จำนวนปีละ ๓๐,๐๐๐  ดอลล่าร์สหรัฐ โดยจ่ายไม่เกินเดือนมีนาคมของทุกปี
   
กรอบแผนงาน AADMER Work Program (2010 – 2015) กำหนดให้แต่ละประเทศสมาชิกเป็นเจ้าภาพหลักในการดำเนินกิจกรรมตามองค์ประกอบด้านยุทธศาสตร์ กล่าวคือ

๑) การประเมินความเสี่ยง (อินโดนีเซีย เจ้าภาพ) การเตือนภัย (เวียดนาม เจ้าภาพ)  และการตรวจสอบ (ฟิลิปปินส์ เจ้าภาพ) 

๒) การป้องกันและบรรเทา–การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการแห่งชาติด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (ไทย เจ้าภาพ)  การให้ความรู้สร้างความตระหนักแก่ประชาชน  (ลาว และไทย เจ้าภาพ) 

๓) การเตรียมความพร้อมและตอบโต้ (มาเลเซีย และสิงคโปร์ เจ้าภาพ)

๔)  การฟื้นฟู  (อินโดนีเซีย และพม่า เจ้าภาพ) โดยมีองค์ประกอบสำคัญ     ในการขับเคลื่อนแผนงาน คือ การจัดระบบโครงสร้าง AADMER ยุทธศาสตร์การเป็นพันธมิตร การระดมทรัพยากรและกระจายเข้าสู่กลุ่มเป้าหมาย การทำให้เข้าสู่ระบบและกลไกที่มีอยู่ ระบบการจัดการองค์ความรู้และการฝึกอบรม และเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ
   
ในการประชุม ACDM วาระพิเศษ ระหว่าง ๒๐–๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ ประเทศออสเตรเลียได้นำเสนอเอกสารความร่วมมือระหว่างอินโดนีเซีย–ออสเตรเลีย ว่าด้วยการดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติระดับภูมิภาค ที่ได้มีการลงมติยอมรับโดยกลุ่มผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit : EAS) โดยกำหนดให้มีการพัฒนาแผนการดำเนินงานร่วมกันด้านการจัดการภัยพิบัติ เพื่อยกระดับศักยภาพการตอบโต้ภัยพิบัติฉุกเฉินร่วมกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งแผนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับแผนการดำเนินการ AADMER Work Program
           
ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มเสนอแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือในด้านการป้องกันอุทกภัย การลดผลกระทบ การบรรเทา การฟื้นฟู และการบูรณะ จนนำไปสู่การร่วมรับรองของผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๙  ภายหลังคำแถลงการณ์ดังกล่าวอาเซียนได้ส่งทีมประเมินสถานการณ์เคลื่อนที่เร็วฉุกเฉินอาเซียน (ASEAN Emergency Rapid Assessment Team : ERAT) ซึ่งเป็นทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติต่าง ๆ และมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานทั้งในอาเซียนและประเทศอื่นในโลก โดยดำเนินงานภายใต้การสั่งการของ AHA Centre ที่ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับเลขาธิการอาเซียน ทั้งนี้ ทีม ASEAN ERAT เข้ามาปฏิบัติภารกิจเพื่อประเมินความเสียหายและความต้องการรับความช่วยเหลือของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในไทย ระหว่าง ๑๕ – ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๔ โดยผ่านความเห็นชอบของปลัดกระทรวงมหาดไทย และมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแล นอกจากนี้ ในปี ๒๕๕๕ ไทยจะมีบทบาทสำคัญอีกครั้งจากการรับมอบหน้าที่ประธานการประชุม ACDM       ต่อจากสิงคโปร์ที่กำลังจะหมดวาระลง