สรุปการประชุมสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่อง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกับผลกระทบต่อความมั่นคง

สรุปการประชุมสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ
เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกับความสำเร็จต่อความมั่นคง”
(Climate  Change  and  its  Security  Implications)
ระหว่าง 24 – 27 มีนาคม 2556
ณ โรงแรม อิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ

 

เจตนารมณ์ของสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย

สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกับความสำคัญต่อความมั่นคง” (Climate Change and Its Security Implications) เพื่อสำรวจกรอบแนวความคิดและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นหรือมุมมองเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกรวมทั้งค้นหาวิธีการหรือรูปแบบของความร่วมมือด้านความมั่นคงทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติ ตลอดจนเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่าง องค์กร หน่วยงาน นักวิชาการ และบุคลากร โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วย ผู้แทนจาก ๑๘ ประเทศ รวมจำนวนประมาณ ๒๔๐ คน 

 

รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ประธานในพิธีเปิดการประชุม เน้นย้ำถึงความร่วมมือของภูมิภาคเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

                   พิธีเปิดการประชุมมีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๖ โดย พลอากาศเอกบุญยฤทธิ์ เกิดสุข รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมโดยได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมฯ และแสดงความยินดีที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย ได้จัดการประชุมนานาชาติขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งได้เน้นถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์ในหลายด้าน เช่น การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง ระบบการเพาะปลูกที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การขาดแคลนแหล่งน้ำ และอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงต่อภูมิภาค และการรับมือต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าวประเทศใดประเทศหนึ่งจะไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จโดยลำพังแต่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกประเทศในการร่วมกันกำหนดเป้าหมาย จัดเตรียมเครื่องมือ และวิธีการปฏิบัติร่วมกันเมื่อเกิดภัยพิบัติเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด ในส่วนของกองบัญชาการกองทัพไทยตระหนักถึงความสำคัญหรือความจำเป็นของการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่ทันสมัยรวมทั้งการพัฒนาวิธีการปฏิบัติจากประสบการณ์และบทเรียนที่ผ่านมาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการเตรียมการรองรับทั้งในด้านการจัดหน่วยงาน กำลังพล ยุทโธปกรณ์ และแผนปฏิบัติงาน นอกจากนี้ประธานฯ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงในระดับชาติและภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อปฏิบัติงานร่วมกันเมื่อเกิดภัยพิบัติในภูมิภาค และหลังจากพิธีเปิดเสร็จสิ้น ประธานฯ ได้ร่วมชมนิทรรศการที่นำเสนอเกี่ยวกับผลกระทบและการรองรับปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนำเสนอผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำเสนอการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ และกองทัพภาคที่ ๓ นำเสนอเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า 

 

รูปแบบการประชุมสัมมนาทางวิชาการ

                     การประชุมฯ มีขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕–๒๖ มีนาคม ๒๕๕๖ ประกอบด้วย การปาฐกถาพิเศษโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ต่อจากนั้นเป็นการอภิปรายเป็นคณะ (Panel  Discussion) ที่เน้นในเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นความท้าทายต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในทศวรรษที่ ๒๑ และกรอบแนวความคิดในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมทั้งวิธีการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงในระดับประเทศระดับภูมิภาคจนถึงระดับนานาชาติ การประชุมฯ ทางวิชาการใช้เวลา ๒ วัน โดยจัดแบ่งเป็น ๓ Session ประกอบด้วย

                   Session ๑ การนำเสนอผลการประชุมสัมมนาทางวิชาการนานาชาติในหัวข้อ“Disaster Management and International Community  Cooperation  in  Dealing with Challenges and  the Consequences of Water Crisis” โดยพลตรี ดร.ไชยอนันต์
จันทคณานุรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ

                    Session ๒ การอภิปรายเป็นคณะในหัวข้อ“Climate Change and Natural  Disaster as the 21 Century Security Challenges (Country Experiences and Prospects for Cooperation) ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.Wei Liang ผู้เชี่ยวชาญจากจีน และ Mr.Mark Schnable ผู้เชี่ยวชาญจากสหรัฐฯ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา และ พลตรีสุรสิทธิ์ ถนัดทาง รองผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย 

Session ๓ การอภิปรายเป็นคณะในหัวข้อ Climate Change and Its Security Implications : Way to Enhance the Cooperation ประกอบด้วย Colonel Takamatsu Minoru ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น และ Mr.Yang Razali Kassim ผู้เชี่ยวชาญจากสิงคโปร์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช และ พลโทวิสิษฐ แจ้งประจักษ์ ที่ปรึกษา กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

 

สรุปผลการปาฐกถาพิเศษและการอภิปรายเป็นคณะ

การปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Climate  Change  as  Global  and  Regional  Strategic  Challenges” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ดร.อานนท์ฯ กล่าวว่าปัจจุบันประเทศควรที่จะต้องส่งเสริมให้นักวิชาการได้เข้ามามีส่วนร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้อธิบายถึงลักษณะของระบบทางธรรมชาติที่มีความเป็นพลวัตรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อระบบมีความเปลี่ยนแปลงในระดับที่เหมาะสมจะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม แต่หากระบบมีความเปลี่ยนแปลงมากเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง เช่น หากมีปริมาณน้ำฝนมากเกินไปก็จะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย หรือหากปริมาณน้ำฝนน้อยเกินไปก็จะทำให้ความแห้งแล้งผลผลิตตกต่ำ ส่วนในด้านพื้นที่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เช่น หากพื้นที่ปลูกข้าวอยู่บนที่สูงก็อาจเกิดปัญหาความแห้งแล้ง เป็นต้น สำหรับปัญหาอุทกภัยนั้นหากประเทศใดมีระบบการป้องกันที่ดี เช่น การมีระบบการแจ้งเตือนภัย มีหน่วยงานช่วยเหลือการอพยพ และมีการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ ก็จะได้รับผลกระทบน้อย 

สภาพภูมิอากาศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ในแต่ละวันจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเห็นได้จากค่าเฉลี่ยของฤดูกาลหรือสถิติที่ได้บันทึกไว้ การศึกษาสภาพภูมิอากาศจะต้องเป็นการศึกษาปรากฏการณ์ในระยะยาว เช่น การบันทึกและคำนวณหาค่าเฉลี่ยของปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี ซึ่งการบันทึกสถิติจะทำให้สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าสภาพภูมิอากาศในช่วงปีนั้นๆ จะเป็นอย่างไร 

วัฏจักรของโลกจะมีวงรอบในแต่ละรอบวงมีระยะเวลา ๒๕-๓๐ ปี ซึ่งโลกที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่หนึ่งครั้ง สำหรับการที่แต่ละประเทศจะมาร่วมหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางในการป้องกันปัญหาภัยพิบัติ ทุกประเทศควรจะต้องมีการเก็บรวบรวมหรือบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของตนเองย้อนหลังประมาณ ๒๕–๓๐ ปี จึงจะสามารถนำมาใช้ในการหารือร่วมกันได้ 

สภาพภูมิอากาศทั้งในระดับทั้งถิ่นและระดับโลก จะต้องได้รับการรักษาให้อยู่ในสภาพที่สมดุล และหากทุกประเทศยังไม่สามารถควบคุมหรือหยุดยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะได้ โลกก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูยาวนานมากกว่า ๓๐ ปี ฉะนั้นการที่จะสร้างความสมดุลให้กับโลกนั้นทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันในการลดอัตราการปล่อยมลพิษหรือก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งจะต้องปรับตัวและร่วมแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ เช่น การปรับความสมดุลของสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการ การลดความเสี่ยง เป็นต้น 

การประเมินลักษณะสภาพภูมิอากาศในภูมิภาคนั้น แต่ละประเทศจะไม่สามารถแบ่งแยกสภาพภูมิอากาศออกเป็นรายประเทศได้ เนื่องจากระบบสภาพภูมิอากาศมีความเชื่อมโยงกันจึงต้องมองในภาพรวมของโลก เช่น การติดตามตรวจสอบสภาพภูมิอากาศในอาเซียนเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลจะต้องครอบคลุมพื้นที่กว่า ๒๐๐ ตารางกิโลเมตร และนำวิธีการคำนวณทางสถิติมาใช้ในการมองปัญหาในระดับที่เล็กลง ซึ่งปัญหาของสภาพภูมิอากาศระดับเล็กจะสามารถอธิบายผลกระทบของสภาพภูมิอากาศขนาดใหญ่ได้ เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ อาจทำให้สภาวะอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อพืชและสัตว์เนื่องจาก “ก๊าซมีเทน” ที่มีคุณสมบัติดูดซับความร้อนและเมื่อแสงอาทิตย์ตกมากระทบกับก๊าซมีเทนจะทำให้เกิดการกระจายตัวของรังสีความร้อนและทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้น 

ในช่วงเวลา ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา พบว่าอุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการนำพลังงานเชื้อเพลิงประเภท น้ำมัน ก๊าซ ถ่านหิน มาใช้ ซึ่งชาติสมาชิกในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงกำลังประสบภาวะอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี ส่วนในประเทศไทยพบว่าแต่ละจังหวัดมีอุณหภูมิที่แตกต่างกันมาก ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีอุณหภูมิเพิ่มสูงมากขึ้นกว่า ๓๕ องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อวันในลักษณะนี้มากกว่า ๑๐๐ วัน ซึ่งเห็นได้ว่ากรุงเทพฯ มีอุณหภูมิสูงขึ้น พื้นที่ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีลักษณะภูมิอากาศที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด บางประเทศมีปริมาณน้ำฝนต่อปีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลันได้ อีกทั้งในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงยังมีการสร้างเขื่อนเพิ่มมากขึ้น การกักเก็บน้ำก็จะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน แต่บางปีพบว่าปริมาณน้ำในลำน้ำโขงมีปริมาณลดน้อยลง เนื่องจากขาดการบริหารจัดการน้ำที่ดี 

กรณีของประเทศไทยพบว่า ปัญหาน้ำท่วมมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สังเกตได้จากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้บางพื้นที่ของไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาภัยแล้งเพิ่มมากขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรที่ลดน้อยลงในแต่ละปี จีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ มีความเสี่ยงต่อการเกิดพายุรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ไทยและมาเลเซียจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า ซึ่งภูมิภาคอาเซียนจะต้องเผชิญปัญหาพายุที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทุกประเทศในภูมิภาคจะต้องร่วมมือกันในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยการนำข้อมูลย้อนหลัง ๒-๓ ปีของแต่ละประเทศมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์สภาพอากาศร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีพายุขนาดใหญ่เพียง ๒-๓ ลูกเท่านั้น แต่ในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าอาเซียนจะได้รับผลกระทบจากพายุที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และอาจจะเกิด Strom Surge (การที่พายุพัดเอาน้ำทะเลเข้ามาท่วมขังในพื้นที่ชายฝั่งนานประมาณ ๓-๔ วัน) เช่น กรณีการเกิดพายุนากีส พายุลินดา เป็นต้น 

สำหรับกองทัพไทยเป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ เนื่องจากมีความพร้อมทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ และทุกครั้งที่ประเทศประสบภัยพิบัติ กองทัพจะออกมาช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะในเหตุภัยพิบัติขนาดใหญ่ สภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือละลายอย่างรวดเร็วส่งผลต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับพื้นที่กรุงเทพฯมีการสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้มากเกินไป ส่งผลให้แผ่นดินทรุดตัว แต่ประชาชนไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากพื้นที่กรุงเทพฯ มีระบบการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าพื้นที่กรุงเทพฯ จะมีระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเลก็ตาม ในอนาคตผู้นำประเทศจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเป็นอย่างดี ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจแก้ไขปัญหา นอกจากนี้กรุงเทพฯ จะต้องเพิ่มมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ปากแม่น้ำบริเวณจังหวัดสมุทรปราการ มีระดับต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ๑ เมตร เกิดจากการทรุดตัวของแผ่นดินที่เป็นผลจาก แผ่นเปลือกโลกมีการทรุดตัวลง การเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลก ฯลฯ ซึ่งโดยทั่วไปแผ่นเปลือกโลกจะมีการทรุดตัวประมาณปีละ ๑๐ มิลลิเมตร สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ มีอัตราการทรุดตัว ๒ เซนติเมตรต่อปี หรือค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ ๑๐ มิลลิเมตรต่อปี ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น การเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทั้งนี้สิ่งที่ควรระวัง คือ มาตรการป้องกันพื้นที่เหล่านี้อาจทำให้ระบบทางธรรมชาติสูญเสียความสมดุลได้ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น น้ำทะเลหนุนสูง การกัดเซาะชายฝั่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเชื่อมโยงกับระบบทางธรรมชาติในขณะเดียวกันมาตรการป้องกันและแก้ไขจะต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก ซึ่งในสถานการณ์ภัยพิบัติในอนาคตที่จะมีความถี่เพิ่มสูงขึ้นและยากต่อการคาดการณ์ ดังนั้นสิ่งสำคัญสำหรับการแก้ปัญหาจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญและผู้นำประเทศ

 

Session I  การนำเสนอผลการประชุมสัมมนานานาชาติประจำปี ๒๕๕๕ เรื่อง “Disaster  Management and International Community Cooperation in Dealing with the Challenges and the  Consequences  of  Water  Crisis”

 พลตรี ดร.ไชยอนันต์ จันทคณานุรักษ์ 

สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งทำให้สภาพอากาศของโลกแปรปรวน ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ผลของภัยพิบัติในแต่ละครั้งได้สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเช่นกัน อาทิ การเกิดมหาอุทกภัยเมื่อปลายปี ๒๕๕๔ เป็นต้น 

การเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นปัญหาภัยคุกคามรูปแบบใหม่ (Non-Traditional Security) ที่เป็นความท้าทายด้านความมั่นคงจึงจำเป็นจะต้องร่วมกันหาแนวทางการรองรับอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับนานาชาติ ดังนั้น เมื่อเดือน มิ.ย.๒๕๕๕ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศจึงได้จัดการประชุม สัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่อง “Disaster  Management and International Community Cooperation in Dealing with the Challenges and the  Consequences  of  Water  Crisis”เพื่อให้เป็นเวทีสำหรับผู้เชี่ยวชาญจากนานาชาติได้นำเสนอแนวความคิดตลอดจนแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์สำหรับการรองรับภัยพิบัติร่วมกัน โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติจากองค์กรต่างๆ ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ปากีสถาน และประเทศสมาชิกอาเซียน   

ผลที่ได้รับจากการประชุม ได้แก่ แนวทางการปฏิบัติและการเสริมสร้างกลไกความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพในกระบวนการจัดการภัยพิบัติ  ๔ ขั้น ได้แก่ ๑. ขั้นการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ๒. ขั้นการเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญภัยพิบัติ ๓. ขั้นการปฏิบัติระหว่างเกิดภัยพิบัติ และ ๔. ขั้นการฟื้นฟูหลังสถานการณ์ภัยพิบัติ ตลอดจนการกระชับความสัมพันธ์ การสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนรู้ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ
 

Session  II  การอภิปรายเป็นคณะในหัวข้อ “Climate Change and Natural  Disaster as the 21 Century Security Challenges (Country Experiences and Prospects for Cooperation) 

พลตรี สุรสิทธิ์ ถนัดทาง รองผู้อำนวยการ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ 

ผลของภัยพิบัติทางธรรมชาติมักจะทำลายชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและเป็นการยากที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะแก้ปัญหาได้โดยลำพัง การสัมมนาเรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติที่จัดโดยสถาบันวิชาการป้องกันประเทศเมื่อปีที่ผ่านมาได้ผลลัพธ์อย่างดีซึ่งหลายประเด็นที่มีการหยิบยกมาในการประชุมคราวที่แล้วจะได้มีการต่อยอดในการประชุมในครั้งนี้ และจะก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจร่วมกันตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือในทุกระดับ 


1. Presentation การนำเสนอในหัวข้อ “China’s  Experiences  and  Prospects  for Cooperation”

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์  Wei Liang, World Economy Institute, China Institute of Contemporary International Relations 

ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกลายเป็นประเด็นสำคัญของโลก และเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน ซึ่งจีนเป็นประเทศที่มีความอ่อนแอต่อภัยพิบัติเห็นได้จากในหลายปีที่ผ่านมาจีนได้รับผลกระทบอย่างมากจากภัยพิบัติและเป็นความท้าทายต่อการพัฒนาประเทศ ผลกระทบจากภัยพิบัตินอกจากการเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแล้ว ยังส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหารด้วย 

ฝ่ายบริหารของจีนต้องจัดเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาก่อน–หลังเพื่อนำมาออกแบบโครงสร้างองค์กรและเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงด้านอาหาร โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของจีน ได้แก่ กระทรวงเกษตรซึ่งจะดูแลด้านการเพาะปลูก และการเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ประหยัดน้ำกระทรวงทรัพยากรน้ำจะดูแลในด้านการชลประทาน การใช้พลังงานน้ำ เขื่อนขนาดเล็ก และน้ำดื่ม ซึ่งการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจะเป็นกุญแจสำคัญของความมั่นคงด้านอาหาร 

ในภาคการเกษตรกรรมรัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการจัดการพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากจีนมีพื้นที่เพาะปลูกจำกัดเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร โดยกำหนดนโยบายควบคุมการใช้ที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการสร้างระบบชลประทานที่มีประสิทธิภาพ การสร้างเขื่อนภายใต้เทคโนโลยีขั้นสูง และการลงทุนด้านเทคโนโลยีในการเพาะปลูกเพื่อแสวงหาหนทางที่ทำให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 

กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนมีนโยบายในการวางแผนการใช้แหล่งน้ำใต้ดิน และการให้ความสำคัญกับการจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม โดยภาครัฐพยายามกำหนดมาตรการในการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้ขีดความสามารถที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้ ได้แก่ การปฏิรูปการใช้น้ำใต้ดินโดยรัฐบาลมีการเก็บภาษีการใช้น้ำใต้ดินที่ยึดหลักการใช้มากจ่ายมาก ซึ่งหากประชาชนใช้น้ำที่ผิวดินจะมีต้นทุนในการผลิตที่ถูกกว่าการใช้น้ำใต้ดิน จากการที่รัฐบาลเข้าไปกำกับดูแลและตรวจสอบเพื่อให้ประชาชนลดการใช้น้ำใต้ดินนั้น เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนพยายามสร้างกรอบเพื่อเตรียมการรับมือกับปัญหาในอนาคต รวมทั้งดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่สำคัญ ได้แก่ การจัดการลุ่มน้ำ นโยบายการควบคุมการใช้น้ำ การอนุรักษ์น้ำ การคุ้มครองป้องกันแหล่งน้ำ และการควบคุมการพังทลายของหน้าดิน 

ด้านอุตุนิยมวิทยา ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ รัฐบาลจีนได้มีการทุ่มงบประมาณในการวิจัยเรื่องสภาวะอากาศ และมีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติสำหรับนำมาประเมินผลกระทบ พร้อมทั้งวางแผนรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างแบบจำลองในการพยากรณ์อากาศแบบพลวัตร เพื่อศึกษาผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้น 

รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหาหมอกควันจากไฟป่าและโรงงานอุตสาหกรรม โดยได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เพื่อส่งเสริมหรือรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่เห็นถือความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผลกระทบด้านการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประเทศจีนเป็นความท้าทายใหม่ต่อรัฐบาลจีน กล่าวคือ วิถีชีวิตของเกษตรกรเปลี่ยนไปจนอาจเกิดปัญหาความมั่นคงทางด้านอาหารได้ ดังนั้นจีนจึงหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นการปลูกพืชตามสภาวการณ์ การเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกไปตามเงื่อนไขของสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น อุณหภูมิน้ำที่ต่ำลง การปลูกพืชหมุนเวียน การหันกลับไปใช้วิถีการเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งการพัฒนาระบบการเกษตรที่รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างชาญฉลาดจะเป็นหลักสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด 

ข้อเสนอแนะในด้านความร่วมมือระหว่าง ไทย-จีน ประกอบด้วย ด้านเทคโนโลยี ด้านงบประมาณ และด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งทั้งสองประเทศควรจะต้องดำเนินการในด้านต่างๆ เช่น จัดตั้งกองทุนร่วม การส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักในการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน การสร้างความร่วมมือทางการเกษตรที่รักษาสิ่งแวดล้อม การจัดตั้งระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ