การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบันของไทยนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วเน้นรับมือกับฝ่ายตรงข้ามเชิงรับ (Reactive Policy) มากกว่าการดำเนินการเชิงรุก (Proactive Policy) ทำให้สถานะในเวทีระหว่างประเทศของไทยมีความอ่อนแอ นำไปสู่การสร้างโอกาสให้ชาติอื่นดำเนินมาตรการเชิงรุกโจมตีไทยอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้อำนาจจากกลุ่มผู้นำที่ได้รับความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจสูง ผ่านช่องทางการโฆษณาชวนเชื่อ ทั้งในลักษณะการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนต่างประเทศ ตลอดจนโน้มน้าวมติมหาชนระหว่างประเทศให้คล้อยตามจุดยืนของตน ส่งผลกระทบต่อไทยทั้งในด้านทำลายภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของประเทศ ด้วยเหตุนี้ไทยจึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายในการปฏิสัมพันธ์กับรัฐอื่นให้ชัดเจน เนื่องจากโลกในศตวรรษที่ ๒๑ มีตัวแสดงในเวทีโลกที่มีความหลากหลาย อีกทั้งรูปแบบและวิธีการในการกำหนดท่าทีของแต่ละประเทศในประชาคมโลกได้ขยายตัวจากมิติทางด้านความมั่นคง สู่มิติเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ดังนั้น เครื่องมือที่จะบรรลุเป้าประสงค์ในการปฏิสัมพันธ์กับประเทศอื่น หากจะใช้เพียงเครื่องมือด้านการทูตเพียงด้านเดียว อาจไม่สามารถเข้าถึงโอกาสที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการดำเนินกิจการ ระหว่างประเทศได้ จึงมีข้อควรพิจารณาถึงการใช้เครื่องมือด้านอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations) เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกในยุคสารสนเทศ และสามารถดำเนินนโยบายต่างประเทศให้มีความรอบด้านมากขึ้น