ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันมีบทบาทความสำคัญเป็นอย่างมาก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของมนุษย์ พร้อมทั้งเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการรับข้อมูลข่าวสาร และถ่ายโอนข้อมูลได้อย่างไร้พรมแดน และไร้ขีดจำกัด ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้นั้นสามารถก่อให้เกิดทั้งประโยชน์ และโทษได้ในเวลาเดียวกัน ถ้าหากนำไปใช้ในทิศทางที่ไม่ถูกต้องย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระหว่างประเทศได้เช่นกัน รวมถึงส่งผลให้ความมั่นคงเปลี่ยนรูปแบบจากภัยคุกคามตามแบบ (Traditional Threat) คือภัยคุกคามจากการใช้กำลังทหารเข้าทำการรบ เป็นภัยคุกคามไม่ตามแบบ (Non-Traditional Security: NTS) ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่มีความหลากหลายมิติไม่จำกัดอยู่เฉพาะมิติทางด้านการทหารเท่านั้น (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, ม.ป.ท.: ๑๖ - ๑๗) เช่น ภัยคุกคามที่กระทบต่อด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ความมั่นคงและเทคโนโลยี เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การเติบโตของเทคโนโลยีถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของการสู้รบทำใหเกิดสงครามอนาคตที่นำเทคโนโลยี เขามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนกระบวนทัศนใหม่ ภายใต้การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่สำคัญในการทำให้เกิดสงครามอนาคต (Future Warfare)
จากสถานการณ์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ทำให้เกิดประเด็นท้าทายใหม่ ๆ ที่มนุษย์ต้องการก้าวข้ามเพื่อเอาชนะ ทำให้มนุษย์จึงไม่หยุดที่จะเรียนรู้ สะท้อนออกมาในรูปแบบหนึ่ง เช่น การพัฒนาการทางวิทยาศาสตร์จากรุ่นสู่รุ่น ทำให้เกิดรูปแบบ วิธีการ กระบวนการใหม่ ๆ ที่มนุษย์ต้องการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตนเอง จึงได้เกิดรูปแบบต่าง ๆ ของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging technology) ซึ่งนำไปสู่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) การนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนการทำงานของมนุษย์ (Labor-Intensive Activities) เป็นเครื่องจักรที่มีความสามารถทางความคิด ทั้งการรับรู้ การใช้เหตุผล และการแก้ไขปัญหา ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการกับข้อมูลที่มีความซับซ้อนที่เกินขีดความสามารถของมนุษย์จะจัดการได้ รวมถึงปัญญาประดิษฐ์สามารถปฏิบัติการควบคู่ได้หลากหลายภาคส่วน ซึ่งส่วนหนึ่งส่งผลให้มิติความมั่นคงมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยจากรายงาน “ผลกระทบของ AI ต่อเศรษฐกิจโลก”ของ McKinsey Global Institute เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๘ กล่าวว่าปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดรายได้และสามารถใช้ได้หลากหลายอุตสาหกรรม เช่น การท่องเที่ยว การค้าปลีก การขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นต้น (ธำรงชัย หนุนภักดี, ๒๕๖๒) สนับสนุนด้านการแพทย์ เช่น การใช้หุ่นยนต์ผ่านตัด หรือสนับสนุนทางการศึกษา ในการใช้เป็นสื่อการเรียนการสอน หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) รวมถึงสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการประเมิณสถานการณ์ในการช่วยเหลือมนุษย์และภัยพิบัติประเภทต่าง ๆ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่รวดเร็วทำให้เกิดความวิตกกังวลต่อประเด็นทางจริยธรรมของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ จะต้องไม่ลืมว่าการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์นั้น เกิดจากมนุษย์เป็นผู้พัฒนาระบบและป้อนคำสั่งปฏิบัติการต่าง ๆ ถ้าหากบุคคลดังกล่าวมีอคติ (Bias) หรือเลือกปฏิบัติ ย่อมส่งผลให้เกิดภัยคุกคาม และอันตรายจากปัญญาประดิษฐ์ได้ ซึ่งสอดคล้องกับบทความ “AI isn’t dangerous, but human bias is”ที่เผยแพร่ในเว็ปไซด์ของ World Economic Forum (ปณชัย อารีเพิ่มพร, ๒๕๖๒) รวมถึงความกังวลที่ปัญญาประดิษฐ์หรือหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากเกินไป จนทำให้โอกาสเปลี่ยนสภาพเป็น ภัยคุกคาม เช่น การแย่งงานทำ การสอดแนมเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ เป็นต้น
นอกจากนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีกับปัญญาประดิษฐ์ อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือประกอบการทำสงครามในอนาคต ด้วยความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และความก้าวหน้าทางอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะเทคโนโลยี 5G ที่สามารถรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้นในอนาคต ทำให้ประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจสามารถขยายอำนาจโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาปฏิบัติการแทนที่ นำไปสู่สงครามอนาคต (Future Warfare) เป็นสงครามที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม พร้อมทั้งยังเป็นการขยายมิติของสนามรบ เช่น ในอวกาศ และไซเบอร์ (Cyber) ที่มาพร้อมกับแนวโน้มความต้องการสร้างเสริมอำนาจในการต่อรองของนานาประเทศ ด้วยวิวัฒนาการ และการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าของยุทธวิธีในการใช้อาวุธ จากความสามารถในการโจมตีที่แม่นยำ (Precision Strike) ด้วยพัฒนาการการโจมตีด้วยจรวดมิสไซล์นำวิถีจากอากาศยานรบไร้คนขับ (Unmanned Combat Aerial Vehicle: UCAV) พัฒนาการอาวุธอนุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of mass destruction: WMD) และระบบอาวุธทำลายล้างอัตโนมัติ (Lethal Autonomous Weapons Systems: LAWS) ที่พัฒนาไปควบคู่กับการนำการแข่งขันด้านเทคโนโลยีปัญญา (Artificial Intelligence: AI) รวมไปถึงการพัฒนาการของสงครามไฮบริด (Hybrid Warfare) หรือสงครามลูกผสม (สงครามตามแบบ และสงครามไม่ตามแบบ) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้สามารถโจมตีในระบบที่สำคัญ ๆ เช่น อาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cyber Crime) Fake News และ Deepfake เป็นต้น ถือว่าเป็นการสร้างภัยคุกคามรูปแบบใหม่ขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ ทำให้การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์นำไปสู่การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ และสงครามอนาคต ย่อมส่งผลกระทบในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคด้วยเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงที่พลิกผันของเทคโนโลยี (Disruptive Technology) ทั้งจากการพัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์ รวมถึงเทคโนโลยีที่อุบัติขึ้นใหม่ ๆ ทำให้เกิดภาพของการพัฒนาของระบบปัญญาประดิษฐ์ และสงครามอนาคตได้หลายรูปแบบ ปรากฎการณ์ดังกล่าว สร้างความวิตกกังวล ความไม่แน่นอน ความไม่ปลอดภัย และความหวาดกลัวที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง และการสูญเสียอธิปไตยของแต่ละประเทศ ทำให้รูปแบบของสังคมที่เปลี่ยนไป แต่ละประเทศมีแนวโน้มพัฒนาประเทศและกองทัพควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีเสถียรภาพเพื่อป้องกันจากการโจมตีทางเทคโนโลยีที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น การให้ความสำคัญทางด้านความมั่นคง โดยเฉพาะประเด็นของปัญญาประดิษฐ์และสงครามอนาคต มีความจำเป็นเพื่อรักษาป้องกันความเสียหายที่เกิดจากการโจมตีทางเทคโนโลยี และเพื่อนำเทคโนโยลีดังกล่าวใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะแนวทางสำหรับการป้องกันประเทศ นอกจากนี้ จำเป็นต้องรู้เท่าทันและตระหนักรู้ถึงการพัฒนาการของวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ เพื่อรับมือและป้องปรามต่อภัยความมั่นคงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้หลากหลายโอกาสและรูปแบบ ด้วยความซับซ้อนของสงครามอนาคตที่เกิดจากการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ทั้งนี้ ควรมีการพัฒนาทั้งบุคลากร เครื่องมือต่าง ๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง และขีดความสามารถในการรบ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงและผลประโยชน์แห่งชาติ ในอีกลักษณะหนึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าว อาจนำไปสู่ภาพความไม่มั่นคงที่มีผลกระทบทางจิตวิทยาของประเทศข้างเคียง และระหว่างประเทศเกิดจากความหวาดระแวงถึงเจตนารมณ์ที่แน่ชัดต่อการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ และกองทัพ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความหวาดระแวง ผลกระทบต่อด้านความมั่นคง (The Security Dilemma) และเสถียรภาพในระดับโลก และระดับภูมิภาคนับตั้งแต่ปัจจุบันถึงอนาคตอันใกล้
ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ในฐานะเลขานุการศูนย์อาเซียนศึกษา เห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ทางด้านความมั่นคงในประเด็นปัญญาประดิษฐ์ และสงครามอนาคตทั้งในระดับโลก และระดับของภูมิภาคอาเซียนที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จึงได้จัดการประชุมฯ ด้านความมั่นคงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ปัญญาประดิษฐ์และสงครามอนาคต: ความ ท้าทายต่อโลกและภูมิภาคอาเซียน” เมื่อ 22-23 ม.ค.63 ณ อิงธาร รีสอร์ท จ.นครนายก เพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมความรู้ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งผลที่ได้รับจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดบทบาทและท่าทีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งชาติและภูมิภาคอย่างเหมาะสมต่อกรณีดังกล่าวต่อไป