การประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา สปท. ครั้งที่ 2/63 เรื่อง *ทิศทางความมั่นคงทางทะเล : ความท้าทายของอาเซียน*

        ปัจจุบันโลกและภูมิภาคให้ความสำคัญกับ “ความมั่นคงทางทะเล” มากยิ่งขึ้น เนื่องจากทะเลถือเป็นแหล่งที่มาของกำลังอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยา การทหาร วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งไม่เว้นแม้แต่ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ที่ชาติมหาอำนาจต่างให้ความสำคัญ อันจะเห็นจากการที่ สหรัฐฯ ได้กล่าวถึงการเปิดเสรีในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก (Free and Open Indo-Pacific: FOIP) ในช่วงการประชุม APEC ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม เมื่อเดือน พ.ย.๖๐ โดยสาระสำคัญของ FOIP ประการหนึ่ง คือ การขยายความสนใจไปสู่พื้นที่ทางทะเล  เช่น การเปลี่ยนชื่อหน่วยงานเพื่อรองรับนโยบาย คือ U.S. Pacific Command (USPACOM) เป็น U.S. Indo-Pacific Command (USINDOPACOM) และการวางกำลังรบเพิ่มเติมในพื้นที่ ๒ ฝั่งมหาสมุทร เพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้น สำหรับ จีน ได้ผลักดันเครือข่ายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ผ่าน “The Belt and Road Initiative” ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่มุ่งหวังให้บรรลุความฝันจีน ประกอบด้วย ๒ ส่วน ดังนี้ (๑) Silk Road Economic Belt หรือ การเชื่อมโยงทางบก และ (๒) Maritime Silk Road หรือ การเชื่อมโยงทางทะเล รู้จักกันดีในชื่อ “21st Century Maritime Silk Route Economic Belt” หรือเส้นทางสายไหมด้านเศรษฐกิจทางทะเลในศตวรรษที่ ๒๑ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านการลงทุน ระหว่างจีนกับประเทศในแถบภูมิภาคมหาสมุทร ได้แก่ อาเซียน โอเชียเนีย แอฟริกาเหนือ แปซิฟิก รวมถึงมหาสมุทรอินเดีย เป็นต้น

        สำหรับ ภูมิภาคอาเซียน มีทรัพยากรทางทะเล และเป็นเส้นทางคมนาคมทางทะเลหลักของโลก (Sea Line of Communication: SLOC) ได้แก่ ช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา และช่องแคบลอมบอค โดยเฉพาะ ช่องแคบมะละกา ที่เชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นเส้นทางการเดินเรือขนส่งสินค้าที่สำคัญ ๑ ใน ๔ ของโลก และ ทะเลจีนใต้ ที่อ้างสิทธิ์การครอบครองโดยจีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไน มาเลเซีย และไต้หวัน ซึ่งเป็นพื้นที่ทางทะเลที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เชื่อมต่อเส้นทางการค้าระหว่างเอเชียตะวันออกไปยังตะวันออกกลางและยุโรป นอกจากนี้ ประเด็นเรื่อง “ความมั่นคงทางทะเล” ยังจัดเป็นองค์ประกอบหนึ่งในกรอบความร่วมมือของอาเซียน ภายใต้เสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน โดยแผนงานการจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community Blueprint) ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเลอาเซียนผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดการประชุมเวทีหารืออาเซียนเรื่องความร่วมมือทางทะเล การประยุกต์ใช้แนวทางรอบด้านที่ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในการเดินเรือและประเด็นความมั่นคงในระดับภูมิภาค และการส่งเสริมความร่วมมือด้านความปลอดภัยทางทะเล การค้นหา และการช่วยชีวิต เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูล ความร่วมมือด้านเทคโนโลยี และการเยือนระหว่างกันของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

        สำหรับประเทศไทย ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเป็นประเทศหนึ่งที่มีอาณาเขตติดต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย ทะเลจีนใต้และช่องแคบมะละกา จึงนับได้ว่าประเทศไทยตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญใน ๒ แง่มุม กล่าวคือ (๑) เป็นแหล่งทรัพยากรทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต และ (๒) เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญ มหาอำนาจต่าง ๆ ยังคงมุ่งที่รักษาและแผ่ขยายอิทธิพลของตนเองในพื้นที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้วยเหตุนี้ดุลยภาพและพลวัต ด้านความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคนี้ จึงขึ้นอยู่กับบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคกับประเทศมหาอำนาจเป็นสำคัญ

        แต่อย่างไรก็ตาม “ความมั่นคงทางทะเล” ยังคงเผชิญกับผลกระทบในมิติต่าง ๆ ร่วมด้วย   ได้แก่ มิติด้านเศรษฐกิจ เช่น การดำเนินยุทธศาสตร์ของ สหรัฐฯ และจีน โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาจถูกมองว่าเป็นความพยายามแผ่ขยายอิทธิพลของของตน ทำให้หลายประเทศเกิดความวิตกกังวลและระมัดระวังในการร่วมมือกับประเทศนั้น ๆ ตลอดจนผลกระทบด้านอาชญากรรมข้ามชาติทางทะเล ได้แก่ การกระทำอันเป็นโจรสลัด การลักลอบค้าอาวุธ การลักลอบขนยาเสพติด การลักลอบค้ามนุษย์ และการก่อการร้ายทางทะเล มิติด้านสังคมและวัฒนธรรม ยังพบแนวโน้มของการอพยพย้ายถิ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งการอพยพย้ายถิ่นภายในประเทศหรือข้ามประเทศโดยใช้ช่องทางทางทะเล ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในประเทศปลายทาง เช่น ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา เป็นต้น รวมทั้งความมั่นคงของสิ่งแวดล้อมทางทะเล มิติด้านการเมืองและความมั่นคง ยังพบปัญหาความปลอดภัยของเส้นทางคมนาคมทางทะเล โดยเฉพาะเส้นทางเดินเรือสินค้าที่ผ่านช่องแคบมะละกา ช่องแคบซุนดา และช่องแคบลอมบอก รวมทั้งปัญหาข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ อาจเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือระหว่างบางประเทศในอาเซียน และอาจทำให้ประเทศที่ขัดแย้งกับจีน หันไปพึ่งพาประเทศมหาอำนาจอื่นเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับชาติมหาอำนาจ ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายด้านความมั่นคงทางทะเลของอาเซียนในปัจจุบัน

        ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ในฐานะเลขานุการศูนย์อาเซียนศึกษา ทำหน้าที่ในการจัดการประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการศูนย์อาเซียน ได้เห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ด้านความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน ที่อาจส่งผลกระทบต่อไทยและอาเซียนในหลากหลายมิติ จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านความมั่นคงในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ทิศทางความมั่นคงทางทะเล: ความท้าทายของอาเซียน” ขึ้น เมื่อวันที่ 23-25 ธ.ค.62 ณ โรงแรมเคป ราชา ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมความรู้ ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งผลที่ได้รับจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดบทบาทและท่าทีที่เหมาะสมต่อกรณีดังกล่าวต่อไป