การประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา สปท. ครั้งที่ 1/63 เรื่อง "สถานการณ์ความมั่นคงและความท้าทายของอาเซียนในปี 2020"

        ศศย.สปท. จัดการประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษา สปท. ครั้งที่ 1/63 เรื่อง "สถานการณ์ความมั่นคงและความท้าทายของอาเซียนในปี 2020" ระหว่างวันที่ 29-31 ต.ค.62 ณ ห้องประชุม ศศย.สปท.  โดย ผบ.สปท. กรุณาให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมฯ ในวันที่ 29 ต.ค.62 เวลา 09.00 น.  ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          

        


    สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้

   1) สถานการณ์ความมั่นคงและความท้าทายของราชอาณาจักรกัมพูชา (กพช.)

      นรม.ฮุน เซน ได้เตรียมความพร้อมให้ พล.ท. ฮุน มาเนต (บุตรชาย) ในการสืบทอดตำแหน่งผู้นำ อีกทั้ง นายซัม รังสี แกนนำพรรคสงเคราะห์ชาติ (Cambodia National Rescue Party: CNRP) (พรรคฝ่ายค้าน กพช.) ยืนยันแผนการกลับ กพช. โดยผ่านไทย ห้วง พ.ย.62 ไทยต้องระมัดระวังท่าที ป้องกันการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ จนอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง อีกทั้ง กพช. มีความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

   2) สถานการณ์ความมั่นคงและความท้าทายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (สมม.)

      สมม. กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย การเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในปี 2563 คาดว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD) ยังคงครองเสียงข้างมาก แต่ยังขาดผู้นำที่มีคุณสมบัติพิเศษที่จะมาทดแทน นางออง ซาน ซูจี ได้ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายจะไม่เป็นไปตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ ไทยควรระมัดระวังท่าทีในการแสดงความคิดเห็นในเวทีระหว่างประเทศ เนื่องจาก สมม. ให้ความสำคัญกับการมีศักดิ์ศรี และไม่รับความช่วยเหลือจากใครเป็นพื้นฐานสำคัญ พร้อมทั้งยึดถือความมั่นคงของชาติเหนือสิ่งอื่นใด

   3) สถานการณ์ความมั่นคงและความท้าทายของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)

      ความสัมพันธ์ไทย-ลาว มีความใกล้ชิดบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน มีโครงสร้างทางการเมืองที่มีลักษณะการสืบทอดอำนาจผ่านบุตรหลานของอดีตผู้นำ มีการจัดตั้งกองบัญชาการทหารอากาศ กองทัพประชาชนลาว เพื่อก้าวไปสู่ระเบียบแบบแผนที่ทันสมัยของเหล่ารบทางอากาศ แต่มีความท้าทายด้านเศรษฐกิจ คือ ความไม่สมดุลระหว่างแรงงานกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และได้มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมครั้งใหญ่ และคาดว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างก้าวกระโดด จากการที่ สปจ. เข้ามาดำเนินการเรื่องรถไฟในประเทศ

   4) สถานการณ์ความมั่นคงและความท้าทายของมาเลเซีย (มซ.)

      มซ. มีการปกครองด้วยระบบสหพันธรัฐ ส่งเสริมให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ชายแดนมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น มีแนวนโยบายในการต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดนิยมความรุนแรง การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ ยาเสพติ และการค้ามนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทย ซึ่งไทบและ มซ. สามารถแสวงประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้ ด้านเศรษฐกิจ มซ. และไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างกันเป็นจำนวนมาก มซ. ยังเผชิญความท้าทายจากความเป็นพหุสังคมที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม ที่ทุกเชื้อชาติต่างอยู่กันอย่างแบ่งแยก ไม่สามารถกลืนกลายทางวัฒนธรรมได้

   5) สถานการณ์ความมั่นคงและความท้าทายของเวียดนาม (วน.)

      มีภัยคุกคามด้านความมั่นคงตามแบบ ได้แก่ (1) ความมั่นคงทางการเมืองภายในและการคงอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์ (2) อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน (3) ความมั่นคงทางไซเบอร์ (4) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และ (5) ความมั่นคงทางทะเล โดยเฉพาะข้อพิพาทในทะเลตะวันออก เป็นภัยคุกคามความมั่นคงไม่ตามแบบ ได้แก่ (1) การค้ามนุษย์ (2) การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (3) การจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะสถานการณ์ในแม่น้ำโขง และการรุกล้ำของน้ำเค็มที่มีผลต่อการเกษตร และ (4) ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับความท้าทายทางการเมืองจะเป็นตัวกำหนดทิศทางการเมืองและเศรษฐกิจของ วน. ในอีก 5 ปีข้างหน้า ในประเด็นข้อพิพาทในทะเลตะวันออกจะพยายามผลักดันเข้าเป็นวาระหนึ่งในการประชุมต่าง ๆ ของอาเซียน ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ปัจจุบัน วน. ถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจ อันมาจากการที่รัฐบาลประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจ Doi Moi

   6) สถานการณ์ความมั่นคงและความท้าทายของอินโดนีเซีย (อซ.)

      อซ. เป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่เป็นมุสลิมสายกลางที่ยึดมั่นในหลักปัญจศีล 5 ประการ เป็นรัฐเดี่ยว มีเอกภาพในการปกครองสูง ปธน.โจโก วิโดโด ตั้งเป้าจะเป็นมหาอำนาจขนาดกลางและใจสมุทรโลก (Global Maritime Fulcrum) ผ่านการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน (Blue Economy) และได้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย Indonesia Sea Politic เมื่อปี 2560 ซึ่งคาดว่านโยบายดังกล่าวจะทำให้ อซ. มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในปี 2593 เริ่มพัฒนาขีดความสามารถกำลังทางเรือ สำหรับด้านการเมืองและการทหารคาดว่าเป็นการประนีประนอมลดแรงเสียดทานระหว่างทหารและพลเรือน ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างกันน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น