ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา


ปฏิทินกิจกรรม ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย

ติดต่อ-สอบถาม (จองสถานที่/ห้องพัก)     
โทร. 0-3819-1909 - 11    โทรสาร  0-3819-1914
E-mail.  css.rtarf@gmail.com

ที่ตั้ง :
ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
41/3 บ้านแหลมแท่น ถนนบางแสน-อ่างศิลา
อำเภอแสนสุข  อำเภอเมือง  จังหวัดชลบุรี  20130
โทร. 0-3819-1909 - 11    โทรสาร  0-3819-1914
E-mail.  css.rtarf@gmail.com

 

ความเป็นมาของโครงการฯ

    พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด มีเจตนารมณ์ในการพัฒนางานด้านยุทธศาสตร์ของกองทัพให้มีประสิทธิภาพ โดยได้อนุมัติให้จัดทำโครงการก่อสร้าง ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ขึ้น ณ บริเวณเขาสามมุข จังหวัดชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับ ฝึกอบรมและจัดการประชุม/สัมมนา ตลอดจนเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและประสบการณ์ของอดีตผู้บังคับบัญชา  นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมระดมพลังสมองและแนวความคิดในการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองภารกิจของกองทัพ ตลอดจนผลประโยชน์ของชาติ 

 

วัตถุประสงค์ของโครงการฯ

๑.  ใช้เป็นที่ประชุม อบรม สัมมนา ของผู้บริหารสำหรับข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือนเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวความคิดทางด้านยุทธศาสตร์

๒.  ใช้เป็นสถานที่อบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคง รวมทั้งการเขียนเอกสารทางวิชาการเกี่ยวกับการกำหนดยุทธศาสตร์

๓.  เพื่ออนุรักษ์บ้านพัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ณ เขาสามมุข  อ.เมือง จ.ชลบุรี

 

เหตุผลในการเลือกพื้นที่ บ้านพัก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นสถานที่ดำเนินการโครงการฯ 

สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๔๘๓ มีเหตุการณ์จากกรณีพิพาทอินโดจีนของฝรั่งเศส ทางราชการจึงได้จัดตั้ง บก.ทหารสูงสุด ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๓ โดยมี พลตรีหลวงพิบูลสงครามเป็น
ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และได้ตั้งกองบัญชาการกองทัพสนาม โดยจัดเจ้าหน้าที่จากกรมเสนาธิการทหาร และส่วนราชการอื่นๆไปปฏิบัติงาน และได้ยุบเลิกเมื่อสถานการณ์สงบ ตั้งแต่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๔

ในเวลาต่อมาได้จัดตั้งกองบัญชาการทหารสูงสุด ขึ้นเป็นครั้งที่ ๒ เพื่อรับสถานการณ์สงครามโลก ครั้งที่ ๒ เมื่อ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยมี จอมพลหลวงพิบูลสงคราม เป็น ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และได้ยุบเลิก เมื่อ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๘ หลังสถานการณ์คลี่คลาย

นอกจากนั้น ยังเป็นการอนุรักษ์บ้านพักตากอากาศของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ไว้เป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับให้บุคคลโดยทั่วไปที่ให้ความเคารพนับถือได้ระลึกถึงท่านที่ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ และมีคุณูปการต่อหน่วยงานหรือส่วนราชการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลตรีหลวงพิบูลสงคราม ได้เป็นผู้ก่อตั้งกองบัญชาการทหารสูงสุด และเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นท่านแรก ซึ่งนับว่าท่านได้บัญชาการกองทัพในการปฏิบัติการร่วมเป็นครั้งแรกจนสามารถแก้สถานการณ์จากภัยคุกคามภายนอกประเทศ ให้ประเทศชาติอยู่รอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับบุคลากรของกองทัพที่จะปฏิบัติหน้าที่และภารกิจ
ที่ได้รับมอบเพื่อรักษาประเทศชาติไว้สืบไป


ประโยชน์ที่จะได้รับ

๑. มีสถานที่ประชุม อบรม และ สัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นทางยุทธศาสตร์

๒. เป็นศูนย์รวมผู้มีประสบการณ์และความชำนาญพิเศษ (Visiting Fellows) ของกองทัพไทย

๓. มีสถานที่ฝึกอบรมหลักสูตรระดับนานาชาติเกี่ยวกับการปฏิบัติการด้านสันติภาพ

๔. อนุรักษ์บ้านพักตากอากาศของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี

 

การขอใช้พื้นที่ราชพัสดุ

พื้นที่บ้านพัก จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ราชพัสดุ อยู่ในการดูแลรับผิดชอบของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี บก.ทหารสูงสุด ได้มีหนังสือเรียน เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๙ เพื่อขอใช้ประโยชน์พื้นที่จัดทำโครงการ ซึ่งสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาใช้พื้นที่ราชพัสดุ เมื่อ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐ มีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายลอยเลื่อน บุนนาค) เป็นประธานคณะกรรมการ และได้เห็นชอบให้ บก.ทหารสูงสุด ใช้พื้นที่ราชพัสดุ และเมื่อ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และ บก.ทหารสูงสุด ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุบริเวณบ้านรับรองสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เขาสามมุข อ.เมือง จ.ชลบุรี โดย อนุญาตให้  บก.ทหารสูงสุด เข้าพัฒนาพื้นที่ดินราชพัสดุ หมายเลขทะเบียน ชบ.๑๗๘ เนื้อที่ประมาณ ๕๐-๑-๑๔ ไร่ และพื้นที่พัสดุริมทะเลเขาสามมุข โฉนดเลขที่ ๓๙๒๘ แปลงหมายเลขที่ ๒๐๒๗๐ และ ๒๐๒๗๑ ตามเงื่อนไขและเจตนารมณ์ที่ระบุในบันทึกข้อตกลง

 

การวางศิลาฤกษ์และเปิดโครงการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา

พิธีวางศิลาฤกษ์

เมื่อวันศุกร์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ (เวลาฤกษ์ ๑๑ นาฬิกา ๒๙ นาที ลัคนาสถิต ราศีเมษ  ประกอบไปด้วย มหัทธโน แห่งฤกษ์)  พลเอก บุญสร้าง  เนียมประดิษฐ์  อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กรุณาเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ โครงการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จ.ชลบุรี  โดยมี พลเอก ประมาณ อดิเรกสาร และครอบครัว พร้อมทั้งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมพิธีฯ  



 

พิธีเปิดโครงการ

เมื่อวันจันทร์ที่ ๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑  เวลา ๑๕๐๐ พลเอก บุญสร้าง  เนียมประดิษฐ์  อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กรุณาเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา  โดยมี นายทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้แทนจากหน่วยงานภายในประเทศ รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานต่างประเทศจำนวน ๒๓ ชาติ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีฯ และได้ร่วมกันตัดริบบิ้นเปิดโครงการศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา    บริเวณลานหน้าบ้านพักรับรอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม


พิธีเปิดศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทยฯ 

เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทยแห่งใหม่ ได้ทำพิธีเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการเป็นต้นมา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดการประชุม สัมมนา และกิจกรรมทางวิชาการอย่างหลากหลาย และมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา 


 



 

 




บริเวณพื้นที่แหลมแท่นนี้ยังเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญของการก่อกำเนิดสมาคมอาเซียน ซึ่งในปัจจบันมีสมาชิก ๑๐ ประเทศ สถานที่แห่งนี้จึงเป็นสัญญลักษณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์โดยเป็นสถานที่เจรจาและการลงนามก่อตั้งอาเซียนเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ (ค.ศ.๑๙๖๗) จึงเป็นสถานที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการระลึกถึงการก่อตั้งอาเซียนและศูนย์ฯแห่งนี้ยังสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ และเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงของอาเซียนในอนาคตต่อไป 


 




 



ปฏิทินกิจกรรม ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย

ติดต่อ-สอบถาม (จองสถานที่/ห้องพัก)     
โทร. 0-3819-1909 - 11    โทรสาร  0-3819-1914
E-mail.  css.rtarf@gmail.com

ที่ตั้ง :
ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา
41/3 บ้านแหลมแท่น ถนนบางแสน-อ่างศิลา
อำเภอแสนสุข  อำเภอเมือง  จังหวัดชลบุรี  20130
โทร. 0-3819-1909 - 11    โทรสาร  0-3819-1914
E-mail.  css.rtarf@gmail.com