การประชุมเชิงสัมมนาทางวิชาการศูนย์อาเซียนศึกษาฯ ครั้งที่ ๔/๕๕

สถานการณ์พลังงานโลก/พลังงานในมิติของอาเซียน
    สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางกรณีปัญหาการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน และมีการเผชิญหน้ากับการกดดันจากประเทศตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวนสูงขึ้นถึง ๑๕๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ดังนั้น หากอิหร่านตอบโต้ด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซย่อมจะกระทบต่อเส้นทางลำเลียงขนส่งน้ำมัน อันจะมีผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นถึงเกือบ ๒๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ซึ่งจะทำให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่กำลังเร่งพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและกำลังก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘ ต้องได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤตพลังงานดังกล่าว

 

            จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี ๒๐๐๙ ทำให้การฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจทำได้ยากขึ้น แต่ในภูมิภาคอาเซียนกลับพบว่าฟื้นตัวได้ดีมากกว่าส่วนภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งเปรียบเทียบได้จากค่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี ๒๐๑๒ พบว่าทั่วโลกสามารถฟื้นตัวได้เพียง ๔.๕% ขณะที่ภูมิภาคอาเซียน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) ฟื้นตัวได้ถึง ๕.๗% จากเหตุนี้ทำให้เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจสูงขึ้น ส่งผลทำให้มีความต้องการในการใช้พลังงานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะพลังงานทดแทนจากก๊าซธรรมชาติ การคาดคะเนความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคอาเซียนจะสูงขึ้นเป็น ๒ เท่าจากปัจจุบัน ในปี ๒๕๕๓ พบว่าความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติมีปริมาณสูงถึง ๔๐๐ Mtoe (หน่วยวัดพลังงาน) และในปี ๒๕๗๓ คาดว่าจะสูงถึง ๗๐๐ Mtoe

 

ทิศทางและพัฒนาการความร่วมมือด้านการบริหารจัดการเพื่อการเผชิญกับความท้าทายจากวิกฤตพลังงานโลกของอาเซียน
๑.    การเชื่อมโยงระบบท่อก๊าซ (Trans ASEAN Gas Pipe line) มีหน่วยงานที่รับผิดชอบภายใต้ ASEAN Secretariat และภายใต้กระทรวงพลังงานของทุกประเทศ เปรียบเสมือน “คณะมนตรีความมั่นคงด้านปิโตรเลียม” หรือ ASEAN Security on Petroleum (ASCOP) เป็นองค์กรที่เป็นหน่วยเลขาในการ Promote การเชื่อมโยงของท่อก๊าซธรรมชาติในภูมิภาค ปัจจุบันการพัฒนาท่อก๊าซระหว่างประเทศเป็นลักษณะแค่ทวิภาคีเท่านั้น เช่น ท่อไทยเชื่อมกับพม่า ไทยกับมาเลเซีย มาเลเซียกับสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งในอนาคตต้องมีการพัฒนาเป็นแบบพหุภาคีต่อไป ดังนั้นจึงมีการจัดตั้งโครงการเชื่อมโยงท่อก๊าซธรรมชาติอาเซียน ที่ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Understanding on the Trans-ASEAN Gas Pipeline : TAGP) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕ เพื่อเป็นแนวทางในการก่อสร้างระบบเครือข่ายท่อก๊าซธรรมชาติเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิก โดยแหล่งก๊าซนาทูน่าตะวันออกของอินโดนีเซียจะเป็นแหล่งก๊าซหลักที่สนับสนุนต่อโครงการนี้

๒.    การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมสำหรับความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียน (ASEAN Plan of Action for Energy Cooperation : APAEC) จำนวน ๒ ฉบับ ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๔๒ – ๒๕๔๗ และ ๒๕๔๗ – ๒๕๕๒ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความยั่งยืนในการจัดหาพลังงานและการใช้ทรัพยากรพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันไทยเป็นประธานยกร่าง APAEC ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๘ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาที่ ยั่งยืนของอาเซียนสนับสนุนการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘

๓.   ความตกลงว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียมของอาเซียน (ASEAN Petroleum Security Agreement : APSA) ซึ่งลงนามมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๙ เพื่อเป็นกลไกในการแบ่งปันปิโตรเลียมในภาวะฉุกเฉินหรือสถานการณ์ที่มีการขาดแคลนและมีอุปทานมากเกินไป ต่อมาได้มีการเสนอให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงความตกลง APSA ให้นำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งมีการลงนามร่างความตกลง APSA ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๔ ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยมีการแก้ไขจากเดิมที่กำหนดไว้ว่า ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดภาวะการขาดแคลนปิโตรเลียมต้องขาดแคลนอย่างน้อย ๒๐% แก้ไขใหม่เป็นขาดแคลนปิโตรเลียมอย่างน้อย ๑๐% ของความต้องการภายในประเทศนั้นๆ และความร่วมมือจากเดิมที่กำหนดให้เป็นไปตามความสมัครใจบนพื้นฐานของธุรกิจ ให้เปลี่ยนเป็น ความร่วมมือให้เป็นไปตามสมัครใจบนพื้นฐานของธุรกิจและด้วยความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการแก้ปัญหาภาวะการขาดแคลน นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดให้เลขาธิการคณะมนตรีอาเซียนว่าด้วยปิโตรเลียม(ASEAN Council on Petroleum (ASCOPE) Secretary-in-Charge) เป็นผู้ประสานงานในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิก

๔.   Power Grid การพัฒนาระบบเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าที่จะต้องมีการเชื่อมโยง ปัจจุบันยังเป็นความร่วมมือในลักษณะทวิภาคีเช่นกัน จากการประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานอาเซียน ครั้งที่ ๒๕ ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid) เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายร่วมของภูมิภาคในการผลักดันให้การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าและการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นรูปธรรมPower Grid การพัฒนาระบบเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าที่จะต้องมีการเชื่อมโยง ปัจจุบันยังเป็นความร่วมมือในลักษณะทวิภาคีเช่นกัน จากการประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานอาเซียน ครั้งที่ ๒๕ ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเรื่องโครงข่ายระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (Memorandum of Understanding on the ASEAN Power Grid) เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดนโยบายร่วมของภูมิภาคในการผลักดันให้การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าและการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นรูปธรรม