3 เส้า การบริหารจัดการความมั่นคงไม่ตามแบบร่วมกันระหว่างภาคความมั่นคง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

3 เส้า การบริหารจัดการความมั่นคงไม่ตามแบบร่วมกันระหว่างภาคความมั่นคง ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

            งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยในเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เพื่อการจัดความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับภัยคุกคามไม่ตามแบบร่วมกัน และเสนอสร้างแนวทางปฏิบัติเริ่มต้น (Initiative Approach) ต่อการบริหารจัดการปัญหาสำคัญเร่งด่วนจากภัยคุกคามไม่ตามแบบ รวมทั้ง มุ่งหาองค์ความรู้และรูปแบบที่เหมาะสมชัดเจนทั้งในระดับภาคส่วนความมั่นคงโดยเฉพาะ กองทัพ กับ ภาคเอกชน และ ภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการบูรณาการกันอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยงานวิจัยได้ใช้ภัยคุกคามไม่ตามแบบใน 3 กรณี คือ สำคัญเร่งด่วน คือ การบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัย พ.ศ.2553 การบริหารจัดการพื้นที่ตามแนวชายแดน: กรณีศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านแม่หละ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก และการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย : กรณีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าในจังหวัดระนอง โดยใช้วิธีการศึกษา อาทิ การเดินทางศึกษาดูงานระดับหน่วยปฏิบัติ และพื้นที่ของจังหวัดที่เผชิญปัญหา การเข้ารับฟังการบรรยายสรุปของหน่วยงานต่างๆ การทำ Focus Group และการสังเกตการณ์ในพื้นที่ รวมทั้งมีการจัดประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ และการรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร (documentary research) หนังสือ บทความ เอกสารงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสื่ออินเตอร์เน็ต

           นอกจากนี้ งานวิจัยยังมุ่งศึกษาถึงความสัมพันธ์โดยเฉพาะด้านความร่วมมือระหว่างกองทัพซึ่งเป็นหนึ่งในภาคส่วนความมั่นคง ร่วมด้วยภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการจัดการกับปัญหาภัยคุกคามไม่ตามแบบ ซึ่งเป็นการศึกษาการปฏิรูปภาคส่วนความมั่นคง (Security Sector Reform: SSR) ที่มีความเหมาะสมกับ “SSR แบบไทยๆ โดยมุ่งการศึกษาไปที่การจัดความสัมพันธ์ของแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะบทบาทของกองทัพในการบริหารจัดการต่อปัญหาสำคัญเร่งด่วนจากภัยคุกคามไม่ตามแบบร่วมกับภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ผลจากการศึกษาได้เสนอแนวทางปฏิบัติเริ่มต้น (Initiative Approach) ต่อการบริหารจัดการปัญหาสำคัญเร่งด่วนจากภัยคุกคามไม่ตามแบบในทั้ง 3 กรณี โดยในแต่ละกรณีได้แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ก่อนเกิดเหตุการณ์ ระหว่างเกิดเหตุการณ์ และหลังเกิดเหตุการณ์ เพื่อวางบทบาทของแต่ละภาคส่วนในการดำเนินการโดยพบว่าการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นทั้ง 3 ภาคส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกัน ปราบปราบ และแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม โดยควรยึดหลักการดำเนินงานแบบ 5 ร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมตรวจสอบ ร่วมรับประโยชน์ กล่าวคือ ร่วมกันแสดงความคิดเห็นที่ดีและเป็นประโยชน์ มีการบริหารจัดการและกำหนดกิจกรรมร่วมกัน ร่วมกันรับผิดชอบในหน้าที่ของตน มีการร่วมกันตรวจสอบประเมินผลกิจกรรม และรับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นร่วมกันเพื่อทำให้เกิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เกิดการแบ่งสรรทรัพยากรอย่างยุติธรรม และลดความขัดแย้งในสังคม ทั้งนี้ ในมิติด้านความมั่งคงควรส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นความสำคัญร่วมกัน โดยควรส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันในลักษณะของความสัมพันธ์ 3 เส้า ซึ่งสามารถตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมที่รวมทุกภาคส่วนไว้ด้วยกันในลักษณะภาคีจะสามารถขับเคลื่อนความร่วมมือในการแก้ปัญหาจากทุกภาคส่วนร่วมกัน โดยจะมีการดำเนินการตามนโยบายที่ได้รับได้อย่างเป็นระบบ มีการแบ่งความรับผิดชอบ และมีเจ้าภาพหลักในแต่ละประเด็นอย่างชัดเจน อีกทั้งการแก้ปัญหาที่เกิดจากการใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในบางกรณีนั้นจะสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกันของคนในพื้นที่ พร้อมทั้งยังเป็นการลดภาระภาครัฐ และทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่ทั้งนี้ยังจำเป็นต้องอาศัยความสนับสนุนจากภาครัฐ

ภัยคุกคามทั้ง 3 กรณีข้างต้นจำเป็นต้องถือเป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะในเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ประเทศไทยประสบบ่อยครั้งขึ้น รุนแรงขึ้น หากมองในมิติความมั่นคงยังถือเป็นภัยที่คุกคามความมั่นคงของมนุษย์ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าในมิติความมั่นคงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทหารเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป มุมมองความมั่นคงควรจะขยายออกไปให้รวมถึงความมั่นคงของมนุษย์ที่ทุกภาคส่วนจะต้องระดมความร่วมมือกันในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับการสร้างรูปแบบการปฏิรูปภาคส่วนความมั่นคง (Security Sectors Reform - SSR) ที่เหมาะสมกับสังคมไทยหลังยุค Post-Cold war โดยการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคงให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน โดยให้ความสำคัญตามภารกิจหลักและความชำนาญของหน่วยงาน พร้อมกันนี้หน่วยงานหลักด้านความมั่นคงยังจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้แก่หน่วยงาน หรือ ภาคส่วนอื่นๆ พร้อมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และสิ่งสำคัญที่จะนำมาสู่การปฏิรูปภาคส่วนความมั่นคงได้อย่างบูรณาการ คือ การสร้างความรู้ความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนเห็นปัญหาในมิติความมั่นคง และการสร้างองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งกองทัพในฐานะภาคส่วนด้านความมั่นคงควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ดังกล่าวให้เกิดขึ้น