SSC Focus - เอกสารวิเคราะห์สถานการณ์ยุทธศาสตร์และความมั่นคง ฉบับที่ ๓/๖๒ (๑ – ๑๕ พ.ย.๖๑ )
SSCFocus - เอกสารวิเคราะห์สถานการณ์ยุทธศาสตร์และความมั่นคง ฉบับที่ ๓/๖๒ ห้วง ๑ – ๑๕ พ.ย.๖๑ เรื่อง “วิกฤตโรฮีนจา...บททดสอบก้าวย่างของอาเซียน” รายละเอียดสรุปดังนี้ ..........
๑. จากปรากฎการณ์ที่องค์การระหว่างประเทศต่างเรียกร้องให้สอบสวนรัฐบาลเมียนมากรณีล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา และล่าสุดได้เรียกร้องให้ประเทศเมียนมาและบังคลาเทศระงับการส่งกลับผู้อพยพชาวโรฮีนจา ประเทศสิงคโปร์และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมียนมาเรียกร้องให้เร่งกระบวนการส่งกลับผู้อพยพชาวโรฮีนจา สร้างความท้าทายต่อไทยในการเป็นประธานอาเซียนในปี ๖๒
๒. การที่องค์กรระหว่างประเทศออกมาเรียกร้องให้ประเทศเมียนมาและบังคลาเทศระงับกระบวนการส่งกลับผู้อพยพชาวโรฮีนจานั้น เพราะมองว่ารัฐบาลเมียนมายังไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิความเป็นพลเมืองของชาวโรฮีนจา การได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียม และการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศ
๓. ที่ผ่านมาชาติสมาชิกอาเซียนมีทัศนคติต่อประเด็นผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่แตกต่างกัน คือ บางประเทศมองว่าควรระงับกระบวนการส่งกลับเพราะสถานการณ์ในเมียนมายังไม่เอื้ออำนวยและรัฐบาลเมียนมา ยังไม่มีหลักประกันที่เป็นรูปธรรมชัดเจน และบางประเทศมองว่าควรเร่งกระบวนการส่งกลับ เพราะทั้งเมียนมาและบังคลาเทศมีความพร้อมและมีความร่วมมือที่ดีต่อกัน
๔. มุมมองของหน่วยงานภาครัฐและภาคความมั่นคงไทย เห็นว่าผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการส่งกลับ อาจถูกใช้เป็นช่องทางให้ขบวนการค้ามนุษย์ลักลอบนำพาชาวโรฮีนจาส่วนนี้ไปยังประเทศที่สาม ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยงานด้านความมั่นคงต้องรับภาระงาน และมีมาตรการในการเฝ้าระวังที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้น
๕. ไทยควรสนับสนุนให้รัฐบาลเมียนมาใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาผู้อพยพชาวโรฮีนจาด้วยสันติวิธี โดยใช้กลไกของอาเซียนในการขับเคลื่อน และตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสบายใจของเมียนมา อีกทั้งไทยมีวาระในการดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาเซียนเพียง ๑ ปี จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สะสมมานานให้แล้วเสร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นไทยจึงควรริเริ่มนโยบายในเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถดำเนินการให้บรรลุผลได้